Abstract:
ระบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ในลัทธิขงจื้อ เป็นจารีตที่กำหนดบทบาทและสถานภาพของเพศหญิงในวัฒนธรรมจีนโดยให้ “เชื่อฟัง” และ “ทำตาม” ยกย่องและเชิดชูเพศชาย นำมาสู่การวิจัยสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์บทบาทและสถานภาพของเพศหญิงจีนแต้จิ๋วในสังคมไทย 3 ช่วงอายุ เพื่อกำหนดแนวคิดในการสร้างสรรค์ 2) วิเคราะห์แนวคิด และภาษาทางทัศนศิลป์ศิลปะกลุ่มสตรีนิยม และผลงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยทฤษฎีสัญวิทยา เพื่อเป็นแนวทางการสร้างภาษาทางทัศนศิลป์ที่สะท้อนบทบาทและสถานภาพสตรีจีนในไทย และ 3) เพื่อสร้างองค์ความรู้จากกระบวนการสร้างสรรค์เป็นฐานต่อศิลปะสตรีนิยมในประเทศไทย ผู้วิจัยสำรวจชุมชนชาวจีนและเก็บข้อมูลกลุ่มสตรีจีนแต้จิ๋วใน 3 ช่วงอายุ ประกอบด้วย สตรีจีนโพ้นทะเล อายุ 70 ปี ขึ้นไป 4 คน สตรีไทยเชื้อสายจีน อายุ 70 – 50 ปี 12 คน และ สตรีลูกหลานชาวจีน อายุต่ำกว่า 50 ปี 7 คน รวม 23 คน เพื่อวิเคราะห์ค่านิยมสตรีจีนใช้กำหนดแนวเรื่องในการสร้างสรรค์ พบว่า จารีตขงจื้อให้คุณค่าแก่สตรีที่ยอมเป็นเบี้ยล่าง ถูกกดทับ เชื่อฟัง เป็นผู้ตาม ไร้อารมณ์ และอยู่ในบ้าน การวิเคราะห์ผลงานศิลปกรรมศิลปะกลุ่มสตรีนิยมด้วยทฤษฎีสัญวิทยา พบว่า ตุ๊กตาจีน ลวดลายคราม 1) มังกร 2) เล่าเรื่อง 3) พรรณพฤกษา ข้าวของเครื่องใช้ในการทำงานบ้าน และการประกอบพิธีกรรม ผสานการใช้ค่าต่างแสง (Chiaroscuro) สามารถเป็นภาษาทางทัศนศิลป์ โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์ 4 ขั้นตอนประกอบด้วย แรงบันดาลใจ แนวคิดในการสร้างสรรค์ การค้นหาภาษาทางทัศนศิลป์ และการทดลองและนำไปสู่ข้อเสนอแนะ จากผลของงานสร้างสรรค์สามารถสรุปได้ว่า ภาษาทางจิตรกรรมสามารถสื่อสารชีวิตร่วมสมัยของสตรีจีนในประเทศไทย สะท้อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และนำเสนอแบบภาพแทนบุคคล (Portrait) และภาพแทนตนเอง (Self-Portrait) เป็นฐานองค์ความรู้และกลวิธีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสตรีนิยมในประเทศไทย