Abstract:
หลังจากมีพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ทำให้ ผู้ประกอบการมีการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยเกิดขึ้นมาก โดยมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพหน่วยพักอาศัยและลักษณะของผู้อยู่อาศัยมาโดยตลอด บริเวณซอยอารีย์ พหลโยธิน เป็นทำเลที่มีการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยในทุกสมัย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงกายภาพของหน่วยพักอาศัย การอยู่อาศัยและทัศนคติของผู้อยู่อาศัย ในอาคารชุดในซอยอารีย์แต่ละยุค เพื่อสรุปเป็นบทเรียนให้แก่ผู้ประกอบการในอนาคต โดยใช้วิธีการ แจกแบบสอบถามในอาคารชุดกรณีศึกษา 4 โครงการ ใน 3 ยุค การสัมภาษณ์และสังเกตหน่วยพักอาศัยเชิงลึกกรณีตัวอย่าง 10 หน่วย ผลการศึกษา ลักษณะทางกายภาพของหน่วยพักอาศัยของกรณีศึกษาในยุคที่ 1 พบว่า เป็นแบบอเนกประสงค์ไม่มีการกั้นห้องแบ่งพื้นที่ใช้สอย แบบมาตรฐานมีขนาดพื้นที่ 42.40 ตารางเมตร ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดสรรพื้นที่ได้เองตามความต้องการใช้งาน หน่วยพักอาศัยมีความสูง 2.50 เมตร โดยมีสัดส่วนช่องเปิด 3% ของพื้นที่ภายในหน่วยพัก ผนังที่ติดกับด้านนอกมีช่องเปิดที่ทำด้วยบานสไลด์กระจกกรอบอลุมิเนียมขนาด 2.58x1.35 เมตรและมีประตูกระจกบานเลื่อน ขนาด 1.80x2.00 เมตร การอยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่(ร้อยละ40.4) อยู่ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีการอยู่อาศัยประจำทุกวัน ผู้อยู่อาศัยในยุคนี้มีความพึงพอใจต่อพื้นที่หน่วยพักอาศัยในระดับมาก และไม่มีปัญหาด้านกายภาพของหน่วยพักอาศัย ในยุคที่ 2 จากการศึกษา 2 กรณี พบว่า ผู้ประกอบการมีการแบ่งพื้นที่ภายในหน่วยพักอาศัยเป็น 2 ส่วนได้แก่ พื้นที่ส่วนตัว และ พื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งโครงการแรกเป็นโครงการอาคารชุด 8 ชั้น ขนาดหน่วยพักอาศัยแบบมาตรฐานมีพื้นที่ 45.24 ตารางเมตร สูง 2.50 เมตร สัดส่วนช่องเปิด 4% ต่อพื้นที่ภายในหน่วยพักอาศัย ผนังที่ติดกับด้านนอกมีประตูกระจกอลูมิเนียมและกระจกบานติดตาย รวม 3.95x2.50 เมตร โครงการที่สองเป็นโครงการอาคารสูง 20 ชั้น ขนาดหน่วยพักอาศัยแบบมาตรฐานมีพื้นที่ 52.05 ตารางเมตร สูง 2.65 เมตร สัดส่วนช่องเปิด 9% ของพื้นที่ภายในหน่วยพักอาศัย ซึ่งผนังที่ติดกับด้านนอกมีประตูกระจกอลูมิเนียม กระจกบานติดตายและหน้าต่างบานเลื่อน รวม 7.2x2.50 เมตร การอยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยทั้ง 2 โครงการ พบมีการเข้าอยู่อาศัย 1 คน ซึ่งอยู่อาศัยประจำทุกวัน ผู้อยู่อาศัยในโครงการอาคารชุด 8 ชั้น มีความพึงพอใจต่อขนาดพื้นที่หน่วยพักอาศัยอยู่ในระดับมากและไม่พบปัญหาด้านกายภาพหน่วยพักอาศัย ส่วนผู้อยู่อาศัยที่อยู่อาศัยในโครงการอาคารสูง 20 ชั้น มีความพึงพอใจต่อพื้นที่หน่วยพักอาศัยในระดับปานกลางและมีปัญหาที่เกิดจากกายภาพหน่วยพักอาศัย ที่มีสัดส่วนของช่องแสงและช่องเปิดเท่ากับความสูงและความกว้างของผนังภายนอก ทำให้ภายในหน่วยพักอาศัยร้อนมาก และมีปัญหาในห้องน้ำที่มีอ่างอาบน้ำซึ่งไม่เหมาะกับการใช้สอยของผู้อยู่อาศัย ในยุคที่ 3 พบว่า กายภาพหน่วยพักอาศัยในโครงการกรณีศึกษามีการแบ่งพื้นที่ภายในหน่วยพักอาศัยเป็น 2 ส่วนได้แก่ พื้นที่ส่วนตัว และ พื้นที่อเนกประสงค์ ขนาดหน่วยพักอาศัยแบบมาตรฐานมีพื้นที่ 53.15 ตารางเมตร สูง 2.70 เมตร สัดส่วนช่องเปิด 7% ของพื้นที่ภายในหน่วยพักอาศัย ซึ่งผนังที่ติดกับด้านนอกมีประตูกระจกอลูมิเนียมบานเลื่อนและกระจกบานติดตาย รวม 5.20x2.70 เมตร มีการเข้าอยู่อาศัย 1 คน(ร้อยละ 48.8) อยู่เฉพาะวันทำงาน ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อหน่วยพักอาศัยในระดับปานกลางและพบปัญหาภายในหน่วยพักอาศัยเช่นเดียวกับยุคที่ 2 แต่มีประเด็นเพิ่มขึ้นคือ พื้นที่ระเบียงที่ยาวและแคบ ทำให้ใช้สอยได้ยากและมีระเบียงที่มากกว่า 1 แห่ง ทำให้เปลืองเนื้อที่ใช้สอย การศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงกายภาพของหน่วยพักอาศัย มีขนาดเล็กลง มีความสูงมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบจากไม่มีการแบ่งพื้นที่เป็นมีการแบ่งพื้นที่ภายใน ผนังด้านนอกมีการเพิ่มขนาดของช่องแสงและช่องเปิดในสัดส่วนที่มากขึ้นและมีการติดตั้งด้วยกระจกที่เป็นบานติดตายมากกว่าผนังคสล.ซึ่งทำให้มีปัญหาห้องร้อน การอยู่อาศัยเปลี่ยนจากการอยู่ประจำเป็นการอยู่เฉพาะวันทำงาน ระดับความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยลดลง ซึ่งมักจะพบปัญหาในโครงการอาคารสูง ในเรื่อง ผนังด้านนอกที่ติดตั้งด้วยกระจกอลูมิเนียมส่งผลให้ห้องร้อนและระเบียงที่แคบเกินไป ไม่เหมาะกับการใช้งาน