Abstract:
แนวคิดเศรษฐศาสตร์จุลภาคเชื่อว่าศักยภาพของพื้นที่จะส่งผลโดยตรงกับค่าแรงของแรงงานในพื้นที่ด้วย การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) แสดงให้เห็นการเกิดขึ้นของ Intra-Urban Wage Premium ในแต่ละย่านของกรุงเทพมหานคร 2) ศึกษาลักษณะของเมืองว่าเอื้อต่อการเกิด Intra-Urban Wage Premium และ 3) ศึกษาผลกระทบกับประสบการณ์ทำงานที่เกิดจากการทำงานในย่านพื้นที่ต่างๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการนำข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้งานในเว็บไซต์หางานออนไลน์ การวิเคราะห์จะต่อยอดด้วยการนำชื่อบริษัทจากประวัติงานของผู้ใช้บริการมาค้นหาตำแหน่งพิกัดสถานที่ผ่าน Google Map เพื่อ 1) ระบุย่านพื้นที่ของสถานที่ตั้งบริษัท โดยผู้วิจัยทำการแบ่งย่านเมืองทั้งสิ้น 8 เขตเมือง ตามความหนาแน่นของการจ้างงานและระดับเงินเดือนของปี 2558 (49,730 ตำแหน่งงาน) และ 2) เพื่อระบุลักษณะของเมือง (Urban Characters) ที่บริษัทตั้งอยู่ ผ่านฐานข้อมูล GoodWalk Score โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกใช้ตัวแบบ Mincer’s Equation ในการวิเคราะห์ผู้ที่ตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่ในปี พ.ศ. 2559 (3,652 ราย) ผลการศึกษาพบว่า 1) การเกิดขึ้นของ Intra-Urban Wage Premium จะมีความเข้มข้นสูงในย่านสีลม-สาทร และอโศก-เพชรบุรี มากตามลำดับ 2) ลักษณะเมืองที่เอื้อให้การเข้าถึงพื้นที่ด้วยการเดินเท้า (GoodWalk Score) จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระดับค่าจ้างโดยเฉลี่ยภายในพื้นที่ อีกทั้ง 3) ประสบการณ์ของแรงงานที่เคยทำงานในเขตที่มีความเข้มข้นของการเป็นเมืองสูงจะช่วยให้ได้รับ Intra-Urban Wage Premium จากการเข้าทำงานใหม่สูงสอดคล้องกัน