Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคการขนส่งและภาคการผลิตอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในภาคขนส่ง โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิต พ.ศ. 2553 และข้อมูลบัญชีรายได้ประชาชาติเป็นฐานข้อมูลในการสร้างตารางบัญชีเมตริกซ์สังคมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ โดยได้แบ่งสาขาการผลิตในระบบเศรษฐกิจออกเป็น 24 สาขาการผลิต และจัดกลุ่มจากความใกล้เคียงในเทคโนโลยีการผลิตและโครงสร้างต้นทุนค่าขนส่ง สำหรับแบบจำลองที่ใช้ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) การคำนวณตัวคูณราคาคงที่ ซึ่งได้ปรับปรุงมาจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายของสาขาการผลิตในตารางบัญชีเมตริกซ์สังคม โดยได้ปรับสัดส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนด้วยค่าความยืดหยุ่นของรายได้เพื่อคำนึงถึงผลจากการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการบริโภคเมื่อรายได้ของครัวเรือนเปลี่ยนแปลง 2) การคำนวณดุลยภาพทั่วไป ซึ่งการศึกษานี้ได้ออกแบบให้การสร้างมูลค่าเพิ่ม หน่วยผลิตสามารถเลือกใช้รูปแบบการขนส่งเพื่อทดแทนการเลือกปัจจัยในการผลิตได้ โดยการจำลองสถานการณ์จะเป็นการเปรียบเทียบผลกระทบจากสัดส่วนของทุนที่จะเข้าสู่ภาคการขนส่งของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า สาขาในภาคการขนส่งที่มีผลกระทบเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward Linkage) มากสุด ได้แก่ สาขาการขนส่งทางราง ขณะที่ผลกระทบเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Forward Linkage) ได้แก่ สาขาการขนส่งทางถนน เมื่อทำการจำลองสถานการณ์โดยการเพิ่มทุนในภาคขนส่งพบว่าสามารถเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มการลงทุนในภาคการขนส่งต่อไป นอกจากนี้ การจัดสรรเงินลงทุนในภาคการขนส่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นสาขาการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคการขนส่ง โดยพิจารณาจากผลกระทบเชื่อมโยงไปข้างหน้า และผลกระทบเชื่อมโยงไปข้างหลัง