Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้าในระบบรัฐสวัสดิการของประเทศสวีเดนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านการศึกษาปัจจัยเชิงประวัติศาสตร์ ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ พรรคการเมือง ระบบไตรภาคี เป็นต้น โดยนำทฤษฎีกฎการเคลื่อนไหวแบบทวิภาคและเศรษฐกิจในกำกับของสังคมของคาร์ล โปลานยี มาผนวกกับทฤษฎีการลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้าของยอร์ชตา อีสปริง-แอนเดอร์เซน เพื่อนำมาเป็นกรอบทฤษฎีหลักในการวิเคราะห์ระบบรัฐสวัสดิการ จากนั้นจึงจะนำมาเชื่อมโยงเปรียบเทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ผลการศึกษาพบว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐสวัสดิการของสวีเดนอยู่ในบริบทที่ให้รัฐเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจตามนโยบายแบบเคนส์ โดยรัฐ ทุนและแรงงานร่วมมือกันในลักษณะไตรภาคีอันเป็นผลมาจากการประนีประนอมทางชนชั้น ความสำเร็จของรัฐสวัสดิการเกิดจาก รัฐบาลภายใต้พรรคสังคมประชาธิปไตยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่พร้อมกับการพัฒนาสังคม ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากชนชั้นแรงงาน ความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและชนชั้นชาวนา การเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบภาษี รวมถึงบทเรียนจากผลกระทบในเชิงสังคมและเศรษฐกิจผ่านก่อตัวของสงครามและการเติบโตของลัทธิฟาสซิสต์ทำให้ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นบริบทที่มีความลื่นไหลต่อการพัฒนารัฐสวัสดิการในสวีเดน พรรคสังคมประชาธิปไตยสามารถผลักดันนโยบายปกป้องสังคมที่ช่วยลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอย่างรอบด้าน ผลของรัฐสวัสดิการคือช่วยลดความไม่พอใจทางสังคมและก่อให้เกิดยุคสันติภาพของแรงงานเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทยพบว่าการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน พ.ศ. 2545 เกิดจากพลังปกป้องสังคมที่มาจากชนชั้นกลางที่เติบโตมาจากบริบทการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นคือชมรมแพทย์ชนบท โดยความสำเร็จของการผลักดันมาจากปัจจัยทางการเมือง รัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคการเมืองและช่วงเวลาที่สังคมเป็นประชาธิปไตย ทำให้ไทยสามารถผลักดันระบบประกันสุขภาพที่แยกส่วนจากกันให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ช่วยให้ประชาชนกว่า 48 ล้านคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานเอกชนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบหลักประกันสุขภาพจึงถือเป็นก้าวแรกของการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังไม่เพียงพอในการลดผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเนื่องจากเป็นระบบที่คุ้มครองแรงงานด้านสุขภาพเพียงด้านเดียว ดังนั้นในอนาคตประเทศไทยควรมีบริบทที่สังคมเป็นประชาธิปไตยเพื่อสร้างพลังปกป้องสังคมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะพลังที่มาจากชนชั้นล่างเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายอื่นๆที่ครอบคลุมและรอบด้านเหมือนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ระบบรัฐสวัสดิการและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นรูปแบบหนึ่งที่อยู่ภายใต้ทฤษฎีเศรษฐกิจในกำกับของสังคมตามข้อเสนอของโปลานยีที่ช่วยให้กระบวนการสะสมทุนดำเนินไปพร้อมกับการกระจายส่วนเกินทางเศรษฐกิจอย่างได้สัดส่วนกันซึ่งสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากการที่แรงงานถูกทำให้กลายเป็นสินค้า