Abstract:
บทเพลง สุวรรณภูมิ (แผ่นดินทอง) มีวัตถุประสงค์ในการประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นผลงานในการนำออกแสดงเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวโรกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 70 ปี และสะท้อนวัฒนธรรมดนตรีที่มีนวัตกรรมทางดนตรีพื้นเมืองของไทยทั้ง 4 ภาค โดยผู้วิจัยแบ่งบทเพลงออกเป็นทั้งหมด 4 ท่อนดังนี้ ท่อนที่ 1 ผู้วิจัยให้ความสำคัญกับการจัดลำดับกลุ่มโน้ตที่จะใช้ในแต่ละตอนของท่อนนี้ ผสมกับจังหวะที่คล้ายกับจังหวะรำวงพื้นบ้าน ท่อนที่ 2 ผู้วิจัยได้เลือกกลุ่มโน้ตที่สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนำมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ในท่อนนี้ ผนวกกับใช้คอร์ดคู่ 4 เรียงซ้อน และคอร์ดคู่ 5 เรียงซ้อนมาเป็นเสียงประสานผสมกับทำนองเพลงพื้นบ้านภาคเหนือทั้ง 3 เพลง ทำให้ท่อนนี้ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นภาคเหนือของไทย ท่อนที่ 3 ทำนองหลักมาจากเพลงพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้วิจัยทำให้อัตราจังหวะเกิดความคลาดเคลื่อนผสมกับความไม่สมมาตรในแง่ต่าง ๆ ของตัวดนตรี ในท่อนสุดท้ายของบทเพลง สุวรรณภูมิ (แผ่นดินทอง) ผู้วิจัยได้เลือกใช้เพลงพื้นบ้านของภาคใต้ นอกจากนั้นผู้วิจัยใช้เสียงประสานที่เป็นกลุ่มเสียงสมมาตรในตัวทำให้เกิดแกนกลางความสมมาตร จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะเห็นได้ว่า สุวรรณภูมิ (แผ่นดินทอง) เป็นบทเพลงมีแสดงถึงชนชาติของผู้วิจัยอย่างชัดเจน กล่าวได้ว่าบทเพลงนี้ถือเป็นดนตรีชาตินิยม