Abstract:
หอผู้ป่วยใน กรณีอาคารสูงในโรงพยาบาลของรัฐเป็นอาคารสาธารณะที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหากเกิดเหตุอัคคีภัย เนื่องจากอาคารมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากและอยู่ในอาคารเป็นระยะเวลานาน ประกอบด้วยผู้ที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองหลายระดับ ทั้งผู้ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ปกติ จนถึงผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย นอกจากนี้ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางอพยพหนีภัยเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต้นที่ครอบคลุมลักษณะอาคารทั่วไปเท่านั้น ทำให้ไม่มีความสอดคล้องกับประเภทและลักษณะเฉพาะของการใช้งานอาคารหอผู้ป่วยในซึ่งมีความแตกต่างกับอาคารประเภทอื่นๆ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสอดคล้องของกฎหมายกับการออกแบบและใช้งาน สาเหตุและปัญหาในการออกแบบและใช้งานเส้นทางอพยพหนีภัยหอผู้ป่วยใน กรณีอาคารสูงในโรงพยาบาลของรัฐ มีวิธีดำเนินการวิจัยคือ 1)ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับหอผู้ป่วยใน กฎหมาย มาตรฐาน และหลักการเกี่ยวกับการอพยพหนีภัย 2)ศึกษาและวิเคราะห์เส้นทางอพยพหนีภัยจากแบบก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม จำนวน 23 อาคาร 3)สัมภาษณ์และสำรวจเส้นทางอพยพหนีภัย จำนวน 7 อาคาร โดยสัมภาษณ์ 3 กลุ่ม คือ ผู้ออกแบบ ผู้ใช้งาน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4)วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสรุปผลการวิจัยและเสนอแนะ จากการศึกษาพบว่าในการออกแบบเส้นทางอพยพหนีภัย ผู้ออกแบบใช้กฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต้น ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับการใช้งานเมื่อมีการซ้อมอพยพหนีภัย โดยผู้ออกแบบได้ออกแบบตามกฎหมายและบางส่วนมีการคำนึงถึงเส้นทางอพยพหนีภัยตามมาตรฐานสากล แต่การออกแบบเส้นทางอพยพหนีภัยยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากการขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆที่ส่งผลต่อการออกแบบ ทำให้การออกแบบเส้นทางอพยพหนีภัยที่ครบถ้วนยังไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในแบบก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมของอาคาร ในการใช้งานเส้นทางอพยพหนีภัย ผู้ใช้งานมีการวางแผนปฏิบัติการระงับอัคคีภัยและการซ้อมอพยพหนีภัย ซึ่งถูกกำหนดตามความเข้าใจของผู้ใช้งาน การใช้งานเส้นทางอพยพหนีภัยในเวลาปกติพบว่าผู้ใช้งานมีการปรับเปลี่ยนการใช้งานบางอย่างที่อาจส่งผลต่อการอพยพหนีภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ใช้งานไม่รู้วัตถุประสงค์ของการออกแบบ แต่เมื่อมีการซ้อมอพยพหนีภัยจะมีการจัดเตรียมพื้นที่ก่อนซ้อมอพยพหนีภัย ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างการอพยพหนีภัยหากเกิดเหตุการณ์จริงกับการซ้อมอพยพหนีภัยที่ใช้งานพื้นที่ตามการออกแบบ