Abstract:
ที่มา: ปัจจุบัน ข้อมูลการศึกษาวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพเรื้อรังในประเทศไทยและจำเพาะต่อประชากรไทยยังมีจำนวนจำกัด วัตถุประสงค์: เพื่อสร้าง “ห้องปฏิบัติการทางระบาดวิทยา” หรือ “Epidemiologic laboratory” ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสภากาชาดไทย สำหรับการศึกษาวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับระบาดวิทยาโรคเรื้อรังที่สำคัญในประชากรไทย วิธีดำเนินการ: เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างโดยใช้แบบสอบถามมาตรฐานที่ครอบคลุมประเด็นด้าน ข้อมูลประชากรศาสตร์ พฤติกรรมสุขภาพ การเจ็บป่วย การใช้ยา ประวัติโรคภูมิแพ้ Health literacy และประวัติอาการเจ็บปวดระบบกระดูกกล้ามเนื้อและรยางค์ รวมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดและปั่นแยกเป็น Serum จำนวน 4 ตัวอย่าง และ Buffy coat จำนวน 1 ตัวอย่าง โดยการดำเนินการทั้งหมด ผ่านการพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยจากคณะกรรมการพิจารณาฯ ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และขอการยินยอมจากอาสาสมัครก่อนการเก็บข้อมูล ผลการดำเนินการ: กลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลได้มีจำนวนทั้งสิ้น 4,939 คน (มีตัวอย่างเลือด 4,349 คน หรือ ร้อยละ 88.1) ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 69-84) อายุเฉลี่ย 40 ถึง 41 ปี) ระดับภาวะสุขภาพส่วนใหญ่พอใช้และดี (ร้อยละ 50-51 และ 38-40 ตามลำดับ) ความชุกของประวัติโรคประจำตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 0.1 ถึง ร้อยละ 30 ปริมาณการใช้ยาเป็นประจำอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7-60.9 และมีประวัติอาการโรคภูมิแพ้ ร้อยละ 5.9-19.6 นับถึงปัจจุบันมีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในประเด็นจำเพาะจำนวน 4 เรื่องเกี่ยวกับ (1) Metabolic syndrome (2) การรับรู้ภาวะสุขภาพตนเอง (3) ระดับของ serum alanine aminotransferase (ALT) และ serum aspartate aminotransferase (AST) ในคนปกติ และ (4) ความสัมพันธ์ระหว่างระดับเปอร์เซ็นต์ไขมันกับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีระดับดัชนีมวลกายปกติ สรุป: ประชากรการศึกษาระยะยาวนี้จะสามารถรองรับความต้องการด้านการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาที่หลากหลายกว้างขวางพอสมควร และเป็นประโยชน์ทั้งต่อการเรียนการสอนด้านการวิจัยของนิสิต แพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์ของคณะและสถาบันการศึกษาด้านสุขภาพต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างไรก็ตาม อัตราการครอบคลุมของกลุ่มตัวอย่างในการระยะแรกของโครงการยังค่อนข้างต่ำ จึงควรมีการดำเนินการเก็บข้อมูลต่อไปในอนาคต เพื่อทำให้โครงการนี้สามารถรองรับการศึกษาวิจัยด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น ต่อไป