Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความชุกและรูปแบบการต้านยาของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่แยกได้จากไก่เนื้อและไก่ไทยที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมและไม่ผสมสารเสริมชีวนะหรือสมุนไพร จากตัวอย่างลำไส้ไก่จำนวน 360 ตัวอย่าง และตัวอย่างเนื้อไก่จำนวน 120 ตัวอย่าง ที่เพาะแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ พบว่า ไก่ไทยที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมสมุนไพรจะพบเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในอัตราส่วนที่สูงที่สุด คือ 73.33% (66/90) สำหรัลตัวอย่างลำไส้ และ 96.67% (29/30) สำหรับตัวอย่างเนื้อไก่ ตามด้วยไก่ไทยที่เลี้ยงด้วยอาหารทั่วไปที่ไม่ได้ผสมสมุนไพร ไก่เนื้อที่เลี้ยงด้วยอาหารทั่วไปที่ไม่ได้ผสมสารเสริมชีวนะ และไก่เนื้อที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมสารเสริมชีวนะ ตามลำดับ สำหรับรูปแบบการต้านยาของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่แยกได้จากไก่กลุ่มต่าง ๆ พบว่า เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ส่วนใหญ่ที่แยกได้จะดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มควิโนโลน/ฟลูออโรควิโนโลน อันได้แก่ กรดนาลิดิซิกและซิโปรฟลอกซาซิน ในขณะที่เชื้อเหล่านี้จะมีความไวรับต่อยาเจนตามัยซินและอิริโทรมัยซิน (ยกเว้นเชื้อที่แยกได้จากลำไส้ของไก่ไทยที่เลี้ยงด้วยอาหารทั่วไปที่ประมาณ 40% ของเชื้อในกลุ่มนี้จะดื้อต่อยาอิริโทรมัยซิน) ในส่วนของการดื้อต่อยาในกลุ่มเททราซัยคลิน พบว่า อัตราการดื้อต่อยาดังกล่าวจะแตกต่างกันออกไปในไก่แต่ละกลุ่ม โดยจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 33.33% ไปจนถึง 100.00% จากผลการศึกษาวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นอาจสรุปได้ว่า ความชุกของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ในไก่ไทยสูงกว่าในไก่เนื้ออย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้อัตราการดื้อต่อยาในกลุ่มควิโนโลน/ฟลูออโรควิโนโลนที่พบค่อนข้างสูงในเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่แยกได้จากไก่เนื้อและไก่ไทยทั้งที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมและไม่ผสมสารเสริมชีวนะหรือสมุนไพร แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของมาตรการในการควบคุมและลดอุบัติการณ์ของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ที่ดื้อต่อยาฟลูออโรควิโลนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของประเทศไทย