Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน ที่สืบทอดจากครูอร่าม อินทรนัฏ มาสู่วิทยาลัยนาฏศิลป มุ่งศึกษาว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์ครูผู้ใหญ่หลายท่านที่ได้รับการถ่ายทอดท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน จากครูอร่าม อินทรนัฏ มุ่งศึกษากระบวนท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน เพื่ออนุรักษ์ท่ารำที่สืบทอดกันมาแล้วบันทึกท่ารำไว้ โดยรับการถ่ายทอดท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน จากอาจารย์สมศักดิ์ ทัดติผลการศึกษาสรุปได้ว่า ครูอร่าม อินทรนัฏ ได้รับการถ่ายทอดท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์ลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน จากพระยานัฏกานุรักษ์(ทองดี สุวรรณภารต)และคุณหญิงนัฏกานุรักษ์(เทศ สุวรรณภารต) และครูอร่าม อินทรนัฏได้ถ่ายทอดท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน ให้กับศิษย์ของท่านในวิทยาลัยนาฏศิลป จนกระทั่งท่านเสียชีวิต
การแสดงบทบาทรำทศกัณฐ์ลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน ตัวละครมีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปเกี้ยวนางสีดา ดังนั้นกลวิธีการรำจึงต้องสง่า องอาจ แบบตัวยักษ์และในขณะเดียวกันก็ต้องซ่อนทีรำแบบเจ้าชู้อยู่ในตัวด้วย ซึ่งการรำซ่อนทีนี้ถือเป็นหัวใจหลักในการแสดงออกของตัวละคร การแต่งกายในการลงสรงครั้งนี้แตกต่างกับการลงสรงครั้งอื่นๆ คือ มีการพาดผ้าคล้องพระศอ ถือพัด และคล้องพวงมาลัย ส่วนเครื่องประกอบที่ใช้ในการลงสรงล้วนแล้วแต่ต้องเป็นเครื่องทองทั้งสิ้น เพราะเป็นการบ่งบอกฐานะความเป็นกษัตริย์ของตัวละคร สรุปได้ว่าท่ารำการแสดงบทบาททศกัณฐ์รำลงสรง ตอน ทศกัณฐ์ลงสวน ได้รับการถ่ายทอดจากพระยานัฏกานุรักษ์(ทองดี สุวรรณภารต)และคุณหญิงนัฏกานุรักษ์(เทศ สุวรรณภารต) สู่ครูอร่าม อินทรนัฏ และท่านได้ถ่ายทอดกระบวนท่ารำนี้สู่ศิษย์ในวิทยาลัยนาฏศิลปอีกหลายท่านจนท่านเสียชีวิต กลวิธีการรำต้องมีความสง่า องอาจ และมีการซ่อนทีรำแบบเจ้าชู้อยู่ในตัวด้วย ปัจจุบันการอนุรักษ์ท่ารำนั้นทำได้ง่ายโดยการบันทึกท่ารำลงในแผ่นบันทึกภาพ และเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้รับชมเพื่อป้องกันท่ารำอันทรงคุณค่านี้มิให้สูญหายไป