Abstract:
เซลล์เยื่อบุมดลูกเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิดที่ทำหน้าที่ต่อต้านการบุกรุกของเชื้อโรคผ่านทางการแสดงออกของตัวรับรู้เชื้อโรคที่เรียกว่าตัวรับโทไลค์ ตัวรับนี้มีความจำเพาะต่อการจับกับโมเลกุลของสิ่งแปลกปลอมที่สร้างมาจากเชื้อโรคซึ่งส่งผลกระตุ้นกระบวนการอักเสบและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เซลล์ของระบบทางเดินสืบพันธุ์มีการแสดงออกของตัวรับชนิดนี้ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเพศ การศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแสดงออกตัวรับโทไลค์ชนิดต่างๆ ในเซลล์เยื่อบุมดลูกเพาะเลี้ยงชนิดไม่ตายของหมู ตลอดจนผลของสารไฟโตเอสโตรเจนจากพืชที่ใช้เป็นทดแทนฮอร์โมนเพศเมียต่อการแสดงออกของยีนและโปรตีนของตัวรับโทไลค์ ของเซลล์เยื่อบุมดลูกด้วยวิธี Real-time PCR และ Western blot analysis ทำการทดลองโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงเยื่อบุผิวของเยื่อบุโพรงมดลูกสุกรชนิดไม่ตายที่เจริญเติบโตในน้ำยาเพาะเลี้ยงที่ปราศจากฮอร์โมนเอสโตรเจน พบว่าในเซลล์เพาะเลี้ยงชนิดนี้มีการแสดงออกของยีนที่ควบคุมตัวรับโทไลค์ชนิดที่1 2 4 5 และ 10 ที่ปริมาณน้อย ในขณะที่พบการแสดงออกของตัวรับโทไลค์ชนิดที่ 3 6 7 8 และ 9 มีปริมาณสูงเมื่อเปรียบเทียบกับยีน GAPDH ที่ใช้เป็นตัวควบคุมซึ่งไม่มีผลตอบสนองต่อสารไฟโตเอสโตรเจน โดยพบว่าเซลล์ที่ได้รับสารเจนิสทีอีน 10-10 หรือ 10-6 โมลลาร์มีการแสดงออกของยีนตัวรับโทไลค์ชนิดที่5 หรือ 7 เพิ่มขึ้น 2-10 เท่า ในขณะที่ไดอะดิซีน 10-6 โมลลาร์จะเพิ่มการแสดงออกของยีนตัวรับโทไลค์ชนิดที่3 และ 5 และไดอะดิซีนที่ความเข้มข้น10-8 โมลลาร์มีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนตัวรับโทไลค์ชนิดที่5 เท่านั้น อย่างไรก็ตามผลของไฟโตเอสโตรเจนต่อการแสดงออกของตัวรับโทไลค์โปรตีนไม่ได้มีความสอดคล้องกับการแสดงออกของยีน โดยกลับพบว่าการแสดงออกของโปรตีนตัวรับโทไลค์ชนิดที่3, 6, 7, 8 และ 9 ลดลง แต่การได้รับเจนิสทิอีนมีผลในการเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนของตัวรับโทไลค์ชนิดที่2 และไดอะดิซีนมีเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนของตัวรับโทไลค์ชนิดที่1 , 4 และ 5 (p<0.05 ) สำหรับในการศึกษาผลของเจนิสทิอีน และไดอะดิซีนต่อการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิดในความสามารถป้องกันการสูญเสียของค่าความต้านทานของเนื้อเยื่อภายหลังได้รับสารไลโพโพลีแซคคาไรด์ที่ทำการตรวจสอบโดยเครื่องมือวัดความต่างศักย์ในเซลล์เพาะเลี้ยงในถาดเพาะเลี้ยงที่มีตัวกรองให้สารผ่านได้ พบว่าการได้รับเจนิสทิอีน และไดอะดิซีนที่ความเข้มข้นต่ำ (10-10 โมลลาร์) ทำให้ค่าความต้านทานของเนื้อเยื่อลดลง ในขณะที่การได้รับสารทั้งสองในความเข้มข้นที่สูงขึ้นทำให้ค่าความต้านทานของเนื้อเยื่อมีค่าสูงขึ้นมากกว่าเซลล์ที่เลี้ยงตามปกติ นอกจากนี้พบว่าสารพิษไลโพโพลีแซคคาไรด์จากแบคทีเรียชนิด O111 : B4 Escherichia coli ขนาด 1 ไมโครกรัมต่อมิลลิตร มีผลลดค่าความต้านทานของเนื้อเยื่อลดลงอย่างมากภายหลังจากให้มาเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และการได้รับเจนิสทิอีน และไดอะดิซีน ที่ทุกระดับความเข้มข้นก่อนที่จะได้รับสารไลโพโพลีแซคคาไรด์สามารถป้องกันการลดลงค่าความต้านทานของเนื้อเยื่อที่เกิดสารไลโพโพลีแซคคาไรด์ได้ นอกจากนี้การแสดงออกของยีนที่ควบคุมตัวรับโทไลค์ได้ถูกตรวจสอบ เพื่อให้ศึกษาผลกระทบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่จะตามมาหลังจากได้รับสารไลโพโพลีแซคคาไรด์ พบว่าการได้รับสารไลโพโพลีแซคคาไรด์เป็นเวลา 48 ชั่วโมงทำให้ที่การแสดงออกของยีนของตัวรับโทไลค์ชนิดที่1 และ 2 เพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการแสดงออกยีนตัวรับโทไลค์ชนิดที่3 , 6, 7, 8 และ 9 ลดลง โดยไม่พบว่าผลดังกล่าวนี้ถูกส่งเสริมได้ด้วยฤทธิ์ของไฟโตเอสโตรเจน แต่กลับพบว่าผลต่อตัวรับโทไลค์ชนิดที่1 และ 2 จากสารไลโพโพลีแซคคาไรด์ไม่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเจนิสทิอีน หรือไดอะดิซีน อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงระดับของตัวรับโทไลค์ดังกล่าว และผลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไซโตไคน์นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดจึงจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่อย่างไรก็ตามผลจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงประโยชน์ของสารไฟโตเอสโตรเจนที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือก และยังสามารถปกป้องผลเสียหายที่เกิดจากการทำงานของสารพิษจากแบคทีเรีย ซึงผลดังกล่าวจะมีประโยชน์สำหรับการที่จะนำสารไฟโตเอสโตรเจนมาใช้เพื่อการรักษาความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อในเยื่อบุของระบบสืบพันธุ์ได้เป็นอย่างดี