Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงปริมาณและคุณภาพ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยการสำรวจและการเก็บตัวอย่างจากอากาศโดยการเก็บแบบ passive air sampler ซึ่งเป็นอุปกรณืเก็บอากาศที่มีขนาดเล็กและอาศัยเพียงการแพร่ของอากาศ โดยไม่ใช้ปั๊มดูดอากาศ เพื่อนำไปวิเคราะห์หาระดับความเข้มข้นของเบนซีน โทลูอีน เอธิลเบนซีน และไซลีน และเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อตรวจหาระดับของ trans, trans-Muconic acid ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการสัมผัสเบนซีน ในประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนแออัดคลองเตย และการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก วัตถุประสงค์ของการศึกษา 1) เพื่อศึกษาระดับความเข้มข้นของเบนซีน โทลูอีน เอธิลเบนซีน และไซลีน ในบรรยากาศในพื้นที่ศึกษาตามฤดูกาล 2) เพื่อทราบถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการได้รับเบนซีน โทลูอีน เอธิลเบนซีน และไซลีน ของกลุ่มตัวอย่าง 3) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้มข้นของเบนซีน โทลูอีน เอธิลเบนซีน และไซลีน ในบรรยากาศกับปัญหาสุขภาพประชาชน 4) เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปปรึกษาหารือกับหลายภาคส่วนในชุมชน อันอาจทำให้เกิดนโยบายสาธารณะในการป้องกัน และควบคุมมลพิษจากสารระเหยเพื่อการมีสุขภาพดี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ผลการศึกษาโดยการสำรวจชุมชน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 500 คน สุ่มเลือกตามสัดส่วนในพื้นที่ พบว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 91.6 ของกลุ่มตัวอย่างได้รับการสัมผัสสารต่าง ๆ ที่มีสารอินทรีย์ระเหยเป็นส่วนผสม รวมทั้งการสัมผัสไอเสียรถ และจากการอาศัยอยู่ใกล้ถนนในระยะ 500 เมตร ส่วนใหญ่การสัมผัสเป็นในลักษณะของการอาศัยอยู่ห่างจากถนนไม่เกิน 500 เมตร รองลงมาได้แก่ สัมผัสสเปรย์ยากันยุง/ยาฆ่าแมลง สัมผัสสเปรย์ฉีดผม/สีย้อมผม/สเปรย์ระงับกลิ่นกาย/สเปรย์ปรับอากาศ สัมผัสไอระเหยของน้ำมัน/สารเคมี สัมผัสสี/แล็คเกอร์ และสัมผัสกาวต่าง ๆ ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 48 ปี โดยมีช่วงอายุตั้งแต่ 11-88 ปี ร้อยละ 79.4 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน/ไม่ได้ทำงาน ร้อยละ 37.6 รองลงมาได้แก่ อาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.7 และ 14.2 ตามลำดับ รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 10,400 บาท รายได้ครัวเรือนมีตั้งแต่ 300-100,000 บาท กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ในพื้นที่ศึกษาโดยเฉลี่ย 30 ปี โดยมีระยะเวลาอาศัยอยู่ในพื้นที่ศึกษาตั้งแต่ 5-80 ปี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ศึกษา 20 ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชน 24 ชั่วโมง/วัน (ร้อยละ 69.9) และ 7 วัน/สัปดาห์ (ร้อยละ 98.9) ลักษณะของอาชีพ (อาชีพที่เสี่ยง และอาชีพที่ไม่เสี่ยง) ต่อการสัมผัสสารอินทรีย์ระเหยพบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสารอินทรีย์ระเหย มากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างได้รับการสัมผัสควันบุหรี่ จากเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 86 ราย ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศในระดับบุคคล พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างปัสสาวะส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการใน 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศและตัวอย่างปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการในแต่ละฤดูกาล พบว่าในทุกฤดูกาล โทลูอีนในระดับบุคคลมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา ได้แก่ ไซลีน ในขณะที่เบนซีนมีค่าเฉลี่ยในระดับบุคคลสูงกว่าเอธิลเบนซีนในฤดูฝนและฤดูหนาว แต่กลับมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าเอธิลเบนซีนในฤดูร้อนเมื่อพิจารณาในแต่ละฤดูกาล พบว่าร้อยละ 100 ของกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยในระดับบุคคลของเบนซีน เอธิลเบนซีน และไซลีน น้อยกว่า 10 ส่วนในพันล้านส่วน (part per billion) ในขณะที่ 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยของโทลูอีนในฤดูหนาวสูงกว่า 10 ส่วนในพันล้านส่วน (part per billion) แต่ในฤดูฝนและฤดูร้อนน้อยกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยของโทลูอีนน้อยกว่า 10 ส่วนในพันล้านส่วน (part per billion) สำหรับดัชนีบ่งชี้ทางชีวภาพของเบนซีน (trans, trans-muconic acid) พบว่ามีค่าไม่เกินมาตรฐานยกเว้นในฤดูฝนมีค่าเกินมาตรฐาน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของโทลูอีนในระดับบุคคลและในบรรยากาศมีค่าสูงสุดในทุกฤดูกาล รองลงมาได้แก่ ไซลีน อาจเนื่องจากภายในบริเวณชุมชนมีไฟไหม้บ่อย ทำให้มีการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่อยู่เสมอๆ และพบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำในบ้าน และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จุดธูปทุกวันพระ โดยไม่เปิดประตูหรือหน้าต่างเพื่อระบายควันธูป ดังนั้นการสัมผัสอาจเป็นการสัมผัสทั้งทางตรง ได้แก่ การทาสีด้วยตนเองหรือมีการทาสีภายในบ้านที่ตนเองอยู่อาศัย การสูดดมกลิ่นธูป และสัมผัสผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น หรือการสัมผัสโดยทางอ้อมจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเพื่อนบ้านข้างเคียง เมื่อทำการเปรียบเทียบแตกต่างของค่าเฉลี่ยในระดับบุคคลระหว่างฤดูกาลกลับพบว่าโทลูอีนและ เอธิลเบนซีนไม่มีความแตกต่างในขณะที่พบความแตกต่างของเบนซีนและไซลีนระหว่างฤดูกาล โดยจะเห็นว่าในฤดูร้อนมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าฤดูหนาวและฤดูฝน อาจเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงในฤดูร้อนส่งผลต่อการระเหยของสารเหล่านี้มากขึ้น ทำให้การตรวจพบน้อยลงในฤดูร้อน นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ทำการตรวจวิเคราะห์หาดัชนีบ่งชี้ทางชีวภาพของเบนซีน (trans, trans-muconic acid; ttma) ซึ่งพบว่ามีค่าที่แตกต่างกันค่อนข้างมากอาจเนื่องจากผลการวิเคราะห์ถูกรบกวนจากอนุพันธ์ของสารอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารกันบูด เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยของกลุ่มตัวอย่างไม่สัมพันธ์กับการสัมผัสสารอินทรีย์ระเหย แต่กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ว่าปัญหาสุขภาพของตนเกิดจากการสัมผัสสารสิ่งแวดล้อมที่มีสารอินทรีย์ระเหยเป็นส่วนผสม อาจเนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่ศึกษามีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสสารอินทรีย์ ระเหยที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกิจกรรมในชุมชน เช่น การทาสี การฉีดสเปรย์กันยุงทุกวัน การจุดธูปทุกวันพระ เป็นต้น จากการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตนเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ปลอดภัยจากการที่อยู่อาศัยในชุมชน แต่มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ ส่วนอีกหนึ่งในสามกล่าวว่าตนไม่มีความเสี่ยง นอกจากนี้พบว่า 1 ใน 3 คิดว่าปัญหาสุขภาพของตนอาจเกิดจากการสัมผัสสารสิ่งแวดล้อมที่มีสารอินทรีย์ระเหยเป็นส่วนผสม หากแต่อีก 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างรับรู้ว่าตนมีปัญหาสุขภาพ แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด อันแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้และความตระหนักในเรื่องของความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารอินทรีย์ระเหยของคนในชุมชน การจัดเวทีชุมชนเพื่อการสร้างความร่วมมือในชุมชนเพื่อการนำไปสู่นโยบายสาธารณะในการป้องกันและควบคุมมลพิษจากสารอินทรีย์ระเหย เป็นเรื่องท้าทาย การดำเนินโครงการวิจัยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการสร้างความตระหนักเรื่องการป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงเพื่อลดการสัมผัสสารอินทรีย์ระเหย อันส่งผลทางลบต่อสุขภาพ กลุ่มเยาวชน แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนและกลุ่มแม่บ้าน นับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงาน