Abstract:
การศึกษาเรื่อง "การมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ระดับสถานีตำรวจ (กต.ตร.สน.): กรณีศึกษากองบังคับการตำรวจนครบาล 5" มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ระดับสถานีตำรวจ (กต.ตร.สน.) และปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วม โดยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ระดับสถานีตำรวจ (กต.ตร.สน.) ภาคประชาชน จำนวน 78 คน และข้าราชการตำรวจ ข้าราชการประจำ และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 122 คน รวม 200 คนผลการศึกษาพบว่า 1. กต.ตร.สน.ภาคประชาชนที่มีระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกัน ทำให้ระดับการมีส่วนร่วมแตกต่างกัน และภาพรวมระดับการมีส่วนร่วมของ กต.ตร.สน.ประชาชน ที่มากที่สุดคือ การมีส่วนร่วมปฏิบัติ รองลงมาได้แก่ การมีส่วนร่วมคิดวางแผนนโยบาย การมีส่วนร่วมติดตามประเมินผล และการมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์ ตามลำดับ 2. ทัศนคติและการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ของ กต.ตร.สน.ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ ข้าราชการประจำ และรัฐวิสาหกิจ ที่แตกต่างกัน จะทำให้ระดับการมีส่วนร่วมของ กต.ตร.สน.ภารประชาชนแตกต่างกัน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติ มีระดับมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การมีส่วนร่วมคิดวางแผนนโยบาย การมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมติดตามประเมินผล ตามลำดับ (แตกต่างกับภาพรวมระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ที่ระดับการมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์มากกว่า การมีส่วนร่วมติดตามประเมินผล)