Abstract:
ปัจจุบันกุ้งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่งของไทย แต่ยังมิได้มีการจัดทำบัญชีที่เป็นแนวทางปฏิบัติสากล ประกอบกับขณะนี้ คณะผู้จัดทำมาตรฐานการบัญชีได้ร่างมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตรขึ้น สำหรับบังคับใช้กับธุรกิจการเกษตร วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงศึกษาถึงแนวปฏิบัติทางการบัญชี ของธุรกิจกุ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ ร่างมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตรในธุรกิจกุ้ง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงไปของงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ภายหลังปฏิบัติตามร่างมาตรฐานการบัญชีนี้ พร้อมทั้งศึกษาถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อประกาศใช้ร่างมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว เพื่อเสนอวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่เหมาะสมแก่ธุรกิจกุ้งในประเทศไทย การศึกษาประกอบด้วยการวิจัยเชิงสำรวจ โดยสัมภาษณ์เชิงลึกเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติทางการบัญชีของธุรกิจกุ้งในประเทศไทย และส่งแบบสอบถามถามนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ต่อการประยุกต์ร่างมาตรฐานการบัญชี สำหรับการเกษตรในธุรกิจกุ้งในด้านการรับรู้รายการ การวัดมูลค่า การบันทึกบัญชี การจัดประเภทรายการและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ชีวภาพ ซึ่งนำสถิติเชิงอนุมานสนับสนุนผลที่ได้จากแบบสอบถาม นอกจากนี้มีการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของงบการเงินภายหลังปฏิบัติตามร่างมาตรฐานการบัญชีนี้ ซึ่งผลการวิเคราะห์จะได้ทราบความเป็นไปได้ ในการประยุกต์ร่างมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตรในธุรกิจกุ้ง และสรุปประเด็นปัญหาที่พบจากการวิจัย จากผลการวิจัยพบว่า ธุรกิจกุ้งมีทั้งกิจการที่บันทึกบัญชี โดยใชัวิธีบันทึกค่าใช้จ่ายในการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีราคาทุน และกิจการที่บันทึกค่าใช้จ่ายในการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวดบัญชี โดยแสดงรายการสินทรัพย์ชีวภาพเป็นสินทรัพย์ หรือแสดงเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวดบัญชีที่เกิดรายการ ซึ่งเป็นไปตามแม่บทการบัญชีและมาตรฐานการบัญชีไทยที่เกี่ยวข้อง สำหรับกุ้งซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรอบการผลิตระยะสั้น ไม่มีความจำเป็นต้องนำร่างมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตร มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติทางการบัญชี หากจะนำมาประยุกต์ในธุรกิจกุ้งจะมีความเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการตีความร่างมาตรฐานการบัญชีนี้ ตั้งแต่คำนิยามที่สำคัญและการวัดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของกุ้ง ตลอดจนวิธีการวัดมูลค่ากุ้ง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ชีวภาพอายุสั้นด้วยราคายุติธรรมให้แก่ผู้ปฏิบัติมีแนวทางเดียวกันในการนำไปใช้ต่อไป โดยการประยุกต์ร่างมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตรจะส่งผลให้รูปแบบการเสนองบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี การบันทึกสินทรัพย์ชีวภาพและผลิตผลทางการเกษตรด้วยราคาทุนดังที่ธุรกิจกุ้งปฏิบัติในปัจจุบันยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งของร่างมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจกุ้งมีความเป็นไปได้ที่จะทำร่างมาตรฐานการบัญชีสำหรับการเกษตรมาประยุกต์ได้ในเบื้องต้น