Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดกระทำกลุ่มเรา-กลุ่มเขาและการจัดกระทำความคาดหวังในความสำเร็จต่อการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถาม ซึ่งมีรูปแบบการวิจัยแบบ 2 (การรับรู้ความเป็นกลุ่ม: กลุ่มเราและกลุ่มเขา) x 2 (ความคาดหวังในความสำเร็จ: ได้รับความคาดหวังสูงและไม่ได้ความคาดหวัง) ผู้ร่วมการทดลองเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 120 คน ซึ่งถูกสุ่มเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งใน 4 เงื่อนไขข้างต้น จากนั้นจึงถามคำถามชี้นำจากมาตรวัดการคล้อยตามสิ่งชี้นำ ซึ่งได้ศึกษาตามกรอบแนวคิดและทฤษฎีของ Gudjonsson (1997) ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ที่ได้รับความคาดหวังสูงมีคะแนนการยอมเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 1 และคะแนนการคล้อยตามสิ่งชี้นำโดยรวมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับความคาดหวังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเรามีคะแนนการยอมเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 1 และคะแนนการคล้อยตามสิ่งชี้นำโดยรวมมากกว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเขาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 3. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเราเมื่อได้รับความคาดหวังสูงมีคะแนนการยอมเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 1 ไม่แตกต่าง จากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเขาเมื่อได้รับความคาดหวังสูง แต่พบว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเราเมื่อได้รับความคาดหวังสูงมีคะแนนการคล้อยตามสิ่งชี้นำโดยรวมมากกว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเขาเมื่อได้รับความคาดหวังสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเรา-กลุ่มเขาและความคาดหวังในความสำเร็จต่อคะแนนการยอมเชื่อตามคำถามชี้นำครั้งที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แต่ไม่พบปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเรา-กลุ่มเขาและความคาดหวังในความสำเร็จต่อคะแนนการคล้อยตามสิ่งชี้นำโดยรวม