Abstract:
วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือการศึกษาวิเคราะห์กระบวนการต่อสู้ ผลักดันและต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ในกำหนดนโยบายกิจการไฟฟ้าไทย กรณีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2564 (PDP2007) ผลจากการศึกษาวิเคราะห์พบว่ากลุ่มสนับสนุน PDP2007 มีกลุ่มผลประโยชน์หลักสองกลุ่ม คือหนึ่ง กลุ่มข้าราชการและเทคโนแครตในกระทรวงพลังงาน และสองกลุ่มข้าราชการรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัทผลิตไฟฟ้าในเครือของกฟผ. ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มนี้มีศักยภาพภายในกลุ่มที่เข้มแข็ง กลุ่มผลประโยชน์หลักกลุ่มที่สองคือกลุ่มผลประโยชน์ที่คัดค้านแผน PDP2007 โดยมีกลุ่มผลประโยชน์สำคัญสองกลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการพลังงานในอีกรูปแบบหนึ่ง จึงเข้ามาผลักดันแผน PDP สอง กลุ่มเครือข่ายชุมชนต่อต้านโรงไฟเป็นกลุ่มแนวร่วมที่เข้ามาร่วมคัดค้านแผน PDP2007 เนื่องจากความเดือดร้อนจากการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เป็นประการสำคัญ การเข้าร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อคัดค้านแผน PDP นั้น หวังถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ตน
กลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายคัดค้านมีความเสียเปรียบด้วยศักยภาพภายใน ขอบข่ายของผลประโยชน์ที่มีความเหลือมกัน เป้าหมายหลักของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนคือการคัดค้านแผน PDP แต่สำหรับกลุ่มเครือข่ายชุมชนต่อต้านโรงไฟฟ้า คือการต่อต้านโรงไฟฟ้าในพื้นที่ การคัดค้านแผน PDP เป็นประเด็นแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยงกัน การต่อสู้ของผลประโยชน์ 2 ฝ่ายคือกลุ่มที่สนับสนุนแผน PDP กับกลุ่มผลประโยชน์ที่คัดค้านแผน PDP มีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนแผนPDP ใกล้ชิดและเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายทำให้วิธีหลักในการต่อสู้คือการออกกฎ กติกา และกฎหมายต่างๆในขณะที่กลุ่มคัดค้านแผน PDP ไม่สามารถเข้าถึงการกำหนดนโยบายโดยตรง กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนจึงใช้วิธีการต่อสู่ผ่านสาธารณะ กลุ่มชุมชนต่อต้านโรงไฟฟ้าใช้วิธีการระดมพล อย่างไรก็ตามการอนุมัติแผน PDP 2007 ซึ่งเป็นการข้อยุติเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากความขัดแย้งยังคงอยู่ ความไม่เท่าเทียมกันจากการได้รับจัดสรรผลประโยชน์ยังคงอยู่ ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ที่เสียเปรียบหรือได้รับผลกระทบจากแผน PDP2007 จะพยายามเข้ามาผลักดัน ต่อสู้ และต่อรองเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแผน PDP2007 อีกครั้ง