Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วยต่อคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับรังสีรักษา กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่อยู่ระหว่างการรับรังสีรักษาในศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี จำนวน 40 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการคัดเลือกตามสะดวก (Convenience sampling) จัดให้กลุ่มตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องอายุ ระยะของโรค และตำแหน่งที่เป็นโรคแล้วสุ่มเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง (Random assignment) กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลปกติ กลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วยใช้แนวคิดความเชื่อความเจ็บป่วย ซึ่งประกอบด้วยเทคนิคการสนทนาบำบัด 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การสร้างสัมพันธภาพ 2) การประเมิน ค้นหา และแยกแยะความแตกต่างความเชื่อเกี่ยวกับความเจ็บป่วย 3) การปรับเปลี่ยนความเชื่อที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง และ 4) การประเมินผลการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและคงไว้ซึ่งความเชื่อที่เหมาะสม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถามคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสภิติทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับสังสีรักษาที่ได้รับการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดีกว่าก่อนการได้รับการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X=5.17, SD=.23 และ X=4.82, SD=.51 p<.05). 2. ผุ้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับรังสีรักษากลุ่มทดลองมีคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X=5.17, SD=.23 และ X=4.86, SD=.47 p<.05)