Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมเด็กของเยอรมันกับของไทยช่วงทศวรรษ 1980 และ1990 โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ ศึกษาลักษณะของวรรณกรรมเด็กของทั้งสองวัฒนธรรม และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในวรรณกรรมเด็กของทั้งสองวัฒนธรรม จากการศึกษาวรรณกรรมเด็กของเยอรมันกับของไทยพบว่าวรรณกรรมเด็กของทั้งสองสังคมมีลักษณะของวรรณกรรมเด็กแตกต่างกัน วรรณกรรมเด็กของเยอรมันเน้นการนำเสนอชีวิตเด็กตามที่เป็นจริงและเจาะลึกสู่โลกในจิตใจของเด็กทำให้สามารถเปิดกว้างให้กับหัวข้อที่หลากหลายและใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นผลให้วรรณกรรมเด็กของเยอรมันใกล้เคียงกับวรรณกรรมผู้ใหญ่ ส่วนวรรณกรรมเด็กของไทยเน้นการสั่งสอนส่งผลให้การนำเสนอภาพของเด็กเป็นภาพเด็กที่เป็นแบบอย่างให้กับผู้อ่านที่เป็นเด็ก ขณะเดียวกันใช้การผูกเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายและไม่มีการใช้หัวข้อหรือวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลายและซับซ้อน นอกจากลักษณะของวรรณกรรมเด็กที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ปรากฏในวรรณกรรมเด็กแตกต่างกันด้วย ภาพของเด็กที่ปรากฏในวรรณกรรมเด็กของเยอรมันเป็น”ผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียง”เช่นผู้ใหญ่ เห็นได้จากการที่ผู้ใหญ่ส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นหรือรู้จักวิพากษ์วิจารณ์และมีความเป็นตัวของตัวเอง ส่วนภาพของเด็กที่ปรากฏในวรรณกรรมเด็กของไทยเป็น”ผู้น้อย เห็นได้จากการผูกเรื่องให้เด็กมีบทบาทในฐานะที่มีหน้าที่เชื่อฟังและทำตามผู้ใหญ่ แม้ว่าลักษณะของวรรณกรรมเด็กและภาพของเด็กในวรรณกรรมเด็กของทั้งสองชาติแตกต่างกันอันเป็นผลมาจากความแตกต่างด้านบริบททางสังคมและวัฒนธรรม แต่วรรณกรรมเด็กของทั้งสองประเทศมีจุดร่วมกันประการหนึ่ง คือ วรรณกรรมเด็กคือผลิตผลทางความคิดของผู้ใหญ่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏในวรรณกรรมเด็กคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ปรารถนา