Abstract:
ภาวะโภชนาการเกินกำลังเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งซึ่งหากภาวะนี้เกิดกับผู้เยาว์ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศก็ควรได้รับความสนใจมากขึ้น การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินภาวะโภชนาการเกิน ศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการเกิน และแสวงหาแนวทางควบคุมภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียนในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยแบบจำลองภาวะน้ำหนักเกินในเด็กเชิงนิเวศวิทยาของ Davison และ Birch (2001) เป็นกรอบแนวคิดของการศึกษา การวิจัยนี้ใช้วิธีผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลักจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้กำหนดนโยบายโภชนาการของประเทศ กลุ่มผู้บริหารและครูผู้ปฏิบัติงานด้านโภชนาการในโรงเรียน และกลุ่มเด็กวัยเรียนทั้งที่มีและไม่มีภาวะโภชนาการเกินและผู้ปกครอง รวมจำนวน 39 ราย ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณเป็นการให้เด็กวัยเรียนอายุ 9-12 ปี และผู้ปกครอง รวมจำนวน 1,863 คู่ ที่เลือกตัวอย่างแบบสองขั้นตอน เป็นผู้กรอกแบบสอบถามด้วยตนเอง ผลการศึกษาพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กวัยเรียนในกรุงเทพมหานครมีภาวะโภชนาการเกิน ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติคทวิภาคแบบพหุขั้นตอนที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 แสดงว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียน ได้แก่ เพศ ระยะเวลาทำกิจกรรมที่ใช้แรงน้อย ระยะเวลาทำกิจกรรมที่ใช้แรงปานกลาง รายได้ของครอบครัว อาชีพของผู้ปกครอง ตัวแบบเชิงสุขภาพของผู้ปกครอง กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่โรงเรียน การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา จำนวนพี่น้อง และลำดับที่การเป็นบุตร ตามลำดับ กล่าวคือ เด็กวัยเรียนผู้ชาย ผู้เป็นบุตรคนเดียวและบุตรคนสุดท้อง ผู้มีจำนวนพี่น้องมากกว่า ผู้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงน้อยมากกว่า ผู้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงปานกลางน้อยกว่า ผู้ดื่มนมมารดาเป็นระยะเวลาน้อยกว่า ผู้อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ผู้อยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรรมส่งเสริมสุขภาพน้อยกว่า ผู้มีผู้ปกครองประกอบอาชีพการค้า และผู้มีผู้ปกครองเป็นตัวแบบเชิงสุขภาพในระดับต่ำกว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโภชนาการเกินมากกว่าเด็กวัยเรียนที่มีลักษณะอื่นๆ ทั้งนี้ตัวแปรทั้ง 10 ตัวดังกล่าวร่วมกันอธิบายการแปรผันของภาวะโภชนาการเกินได้ประมาณร้อยละ 29 ข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงปริมาณและข้อคิดเห็นจากผู้ให้ข้อมูลหลักในการวิจัยเชิงคุณภาพเสนอแนะว่าแนวทางควบคุมภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียนควรใช้มาตรการทางการบังคับกฎ มาตรการทางวิศวกรรมควบคู่ไปกับมาตรการทางสุขศึกษาที่รณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายเด็กโดยเฉพาะเพศชาย และเด็กที่เป็นบุตรคนเดียวและบุตรคนสุดท้อง เป็นต้น ออกกำลังกายให้มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายผู้ปกครองควรเน้นรณรงค์ผู้ปกครองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีและที่ประกอบอาชีพการค้า ขณะที่ควรส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงบุตรด้วยนมของตนเองอย่างน้อย 6 เดือน และให้ผู้ปกครองเป็นตัวแบบเชิงสุขภาพที่เหมาะสมให้กับบุตรหลาน ส่วนกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนควรสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนให้มากขึ้น