Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการ และรูปแบบนาฏยลักษณ์ของฟ้อนล้านนาแบบใหม่ที่เรียกว่าฟ้อนนีโอล้านนา ผู้วิจัยมุ่งศึกษาพัฒนาการการฟ้อนล้านนาแบบใหม่ตามแนวความคิดสร้างสรรค์ของภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526-2548 ตลอดจนการแพร่กระจายของรูปแบบการฟ้อนล้านนาไปสู่อาชีพของกลุ่มต่างๆ ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์ สังเกตการณ์การแสดง และร่วมแสดงในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2549 ล้านนาในที่นี้หมายถึง ภาคเหนือของไทย ตลอดจนกลุ่มวัฒนธรรมใกล้เคียงในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้วิจัยพบว่าการฟ้อนล้านนาแบบใหม่ เป็นการฟ้อนที่ผสมผสานระหว่างการฟ้อนแบบดั้งเดิมของล้านนา กับศิลปกรรมล้านนาในอดีต และการแสดงแนวร่วมสมัย การพัฒนาการ แบ่งได้เป็น 7 ช่วง คือ 1. ช่วงล้านนาในอดีต 2. ช่วงฟื้นฟูล้านนา เป็นช่วงที่เกิดกระแสอนุรักษ์ล้านนา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 3. ช่วงรูปแบบการฟ้อนที่ชัดเจน เกิดขึ้นเมื่อภาควิชาศิลปะไทย เริ่มสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2526 4. ช่วงที่มีชุดการแสดงมากขึ้นและเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 5. ช่วงความหลากหลายในการฟ้อน ปี พ.ศ. 2534 6. ช่วงละครฟ้อนล้านนา 7. ช่วงแพร่กระจาย เกิดกลุ่มการแสดงคณะต่างๆ สรุปผลงานแบบใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526-2548 มี 21 ชุด เป็นงานที่ปรับปรุงจากเดิม 14 ชุด และงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ 7 ชุด ละครฟ้อนล้านนา 4 เรื่อง
การฟ้อนล้านนาแบบใหม่มีลักษณะดังนี้ 1. การฟ้อนเป็นกระบวนการมากกว่าผลผลิต 2. การฟ้อนมีเอกลักษณ์ และแนวปฏิบัติ 3 ทางคือ ก.จำลองภาพในอดีตจากงานประติมากรรม จิตรกรรมล้านนามานำเสนอ ข. ผู้ฟ้อนเกิดความสุขที่จะฟ้อนประหนึ่งว่าปลดปล่อยจิตวิญาณของตนให้ล่องลอยเสมือนทิพย์ และ ค. ผู้ฟ้อนต้องการแสดงความสามารถของตนให้ผู้ชมได้ประจักษ์ กระบวนท่าฟ้อนเกิดจากการเรียนรู้แล้วนำมาสร้างสรรค์ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถและฟื้นความเข้าใจในความเป็นล้านนาของช่างฟ้อนแต่ละคน ท่าฟ้อนสำคัญมี เมื่อมองด้านหน้ามีลักษณะคล้ายตัวเอส (S) เมื่อมองด้านบนแกนของไหล่ขวางกับลำตัวเป็นรูปกากบาท (+) ผู้ฟ้อนเปลี่ยนท่าฟ้อนพร้อมกับบิดลำตัวออกด้านข้าง การเปลี่ยนท่าฟ้อนไม่มีกำหนดท่าฟ้อนตายตัว แต่มีท่าบังคับหรือลักษณะท่าฟ้อนนี้จึงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ โดยเน้นแนวคิดสอดคล้องกับงานแต่ละครั้ง ฟ้อนล้านนาแบบใหม่พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เนื่องจากเปิดโอกาสในการคิดท่าฟ้อนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความแปลกใหม่ และมีหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องกระบวนการความคิดอย่างเป็นระบบ ที่จะสืบทอดเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยอาศัยรูปแบบการฟ้อนนำเสนอความเป็นล้านนาในรูปลักษณ์ใหม่ที่มีกลิ่นอายความเป็นล้านนา