Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินการออกเสียงในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการผ่าตัดปิดรูทะลุช่องปาก-จมูกเปรียบเทียบกับคนปกติและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงฐานกรณ์ของเสียงเพื่อชดเชยความผิดปกติ (Compensatory misarticulation) กับการมีเสียงขึ้นจมูก (Hypernasality) วัสดุและวิธีการ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 15.83 ± 2.56 ปี ซึ่งได้รับการผ่าตัดปิดรูทะลุช่องปาก-จมูกแล้วอย่างน้อย 6 สัปดาห์ และอาสาสมัครที่มีการออกเสียงปกติจำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 15.87 ± 2.44 ปี ทุกคนจะได้รับการประเมินการออกเสียงโดยใช้แบบประเมินการออกเสียงคำไทย 100 คำ และเครื่องเนโซมิเตอร์ วิเคราะห์ผลด้วยค่าเฉลี่ยของคะแนนของคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่อง (Speech intelligibility score) ค่าสัดส่วนพลังงานของเสียงที่ออกทางปากและจมูก (Nasalance score) และตารางคอนฟิวซัน เมทริก (Confusion matrix) จากนั้นเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างทั้งสองกลุ่มโดยใช้สถิติอินดิเพนเดนต์ ที-เทสต์และสถิติทดสอบของแมน-วิทนีย์ และประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงฐานกรณ์ของเสียงเพื่อชดเชยความผิดปกติและการมีเสียงขึ้นจมูกโดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์เพียร์สัน ผลการศึกษา ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และผู้ที่มีการออกเสียงปกติ มีค่าคะแนนของคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่องแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001) ค่าสัดส่วนพลังงานของเสียงที่ออกทางปากและจมูกเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เฉพาะบทความ “ตุ๊กตุ๊ก” และ “น้ำตกไทรโยค” (p = 0.001) ส่วนบทความ “มานี” ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์ผลด้วยตารางคอนฟิวซัน เมทริกพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เฉพาะกลุ่มร้อยละของเสียงที่ออกเสียงถูกต้องและกลุ่มร้อยละของเสียงที่ออกเสียงผิดเป็นเสียงอื่นๆ เท่านั้น (p = 0.001) ส่วนในกลุ่มร้อยละของเสียงที่ออกเสียงผิดเป็นเสียงขึ้นจมูกนั้นไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงฐานกรณ์ของเสียงเพื่อชดเชยความผิดปกติกับการมีเสียงขึ้นจมูกมีความสัมพันธ์เชิงเส้นกัน สรุป ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มีความสามารถในการออกเสียงแตกต่างจากผู้ที่มีการออกเสียงปกติโดยเฉพาะการออกเสียงขึ้นจมูก ส่วนการเปลี่ยนแปลงฐานกรณ์ของเสียงเพื่อชดเชยความผิดปกติกับการมีเสียงขึ้นจมูกนั้นมีความสัมพันธ์เชิงเส้นกัน