Abstract:
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่าความนิยมที่เกิดจากการรวมธุรกิจโดยวิธีซื้อ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การวิจัยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าบริษัทที่มีค่าความนิยมมาก ย่อมมีความสามารถในการทำกำไรส่วนเกินที่มากเช่นเดียวกัน เนื่องจากในทางทฤษฎีค่าความนิยมเป็นสิ่งที่แสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรที่เกินกว่ากำไรตามปกติของอุตสาหกรรม การศึกษาใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2543-2546 โดยความสามารถในการทำกำไรของบริษัท วัดได้จากอัตราผลตอบแทนกำไรขั้นต้น อัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน อัตราผลตอบแทนจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ อัตราผลตอบแทนจากกำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ และกำไรส่วนเกินของบริษัทวัดได้จากผลต่างระหว่างกำไรที่เกิดขึ้นจริงและกำไรปกติ งานวิจัยนี้ใช้วิธีการทดสอบสมมติฐานความแตกต่างของค่าเฉลี่ยแบบสองประชากร โดยใช้พารามิเตอร์ตามวิธี T-test ควบคู่ไปกับการทดสอบสมมติฐานโดยไม่ใช้พารามิเตอร์ตามวิธี Mann-Whitney U test การทดสอบทั้งหมดใช้ระดับนัยสำคัญที่ 0.05 ผลการวิจัยพบว่าอัตราผลตอบแทนกำไรขั้นต้น และอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นการวัดความสามารถในการทำกำไร ที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติหรือกิจกรรมหลักของกิจการ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับค่าความนิยม กล่าวคือ บริษัทที่มีค่าความนิยมมากก็จะมีอัตราผลตอบแทนกำไรขั้นต้น และอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานที่มากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีค่าความนิยมน้อย ในทางกลับกันอัตราผลตอบแทนจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ อัตราผลตอบแทนจากกำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ และกำไรส่วนเกิน ไม่มีความสัมพันธ์กับค่าความนิยม เนื่องจากเป็นการวัดผลการดำเนินงานที่รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติของกิจการ