Abstract:
ภายใต้กรอบแนวคิดสำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับการยอมรับของผู้ใช้งานบัญชีต่องานที่ปรึกษาระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resources Planning (ERP)) โดยประยุกต์มาจากรูปแบบการยอมรับเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model (TAM)) การวิจัยนี้ศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับของผู้ใช้งานบัญชีต่องานที่ปรึกษาระบบ ERP โดยศึกษาถึงความสัมพันธ์เชิงบวกของความสามารถของที่ปรึกษา การสื่อสารที่มีประสิทธิผลของที่ปรึกษา และความแตกต่างแต่ละบุคคลของผู้ใช้งาน ที่มีต่อความสำเร็จในการติดตั้งและนำระบบ ERP ไปใช้งานข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้จัดเก็บและรวบรวมจากผู้ใช้งานบัญชีที่ได้รับผลกระทบและมีส่วนได้เสียจากการติดตั้งและนำระบบ ERP ไปใช้งานของหน่วยงานภาครัฐบาลและหน่วยงานภาคเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีอัตราตอบกลับคือ 44.71% และ 13.28% ตามลำดับ และผู้วิจัยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรภายนอก ประกอบด้วย ความสามารถของที่ปรึกษาที่มีต่อระบบ ERP การสื่อสารที่มีประสิทธิผลของที่ปรึกษา และความแตกต่างแต่ละบุคคลของผู้ใช้งานมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับรูปแบบการยอมรับเทคโนโลยี ประกอบด้วย การรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับและการรับรู้ถึงความยากง่ายในการใช้งานในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวคือ ที่ปรึกษามีความสามารถต่อระบบ ERP และมีวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลมากขึ้นเท่าไร จะทำให้เกิดความพึงพอใจและการยอมรับต่อระบบ ERP มากขึ้นเท่านั้น และรูปแบบการยอมรับเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสำเร็จในการติดตั้งและนำระบบ ERP ไปใช้งานในส่วนระบบงานบัญชี จากการยอมรับของผู้ใช้งานบัญชีต่องานที่ปรึกษาระบบ ERP ในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ หากผู้ใช้งานบัญชียอมรับระบบ ERP มากขึ้นเท่าไร จะทำให้ความสำเร็จในการติดตั้งและนำระบบ ERP ไปใช้งานในส่วนระบบงานบัญชีเกิดมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า ความสามารถของที่ปรึกษาที่มีต่อระบบ ERP มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการสื่อสารที่มีประสิทธิผลของที่ปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญ