Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์คือ ศึกษามาตรการในการจำกัดเวลาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายจำกัดเวลาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออุปสงค์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำการศึกษาผลกระทบของนโยบายจำกัดเวลาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออุปสงค์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการวิเคราะห์สมการอุปทานของตลาดและอุปสงค์ ด้วยแบบจำลอง Seemingly Unrelated Regression Estimated และวิเคราะห์พฤติกรรมการย้ายการบริโภคระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สองชนิดอันได้แก่ เหล้าวิสกี้และเบียร์ ผลการศึกษากฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยพบว่า การดำเนินนโยบายและมาตรการในการจำกัดและควบคุมพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการโฆษณาที่ผ่านมามิได้ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ต้องการ แต่กลับกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจูงใจการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรูปแบบการโฆษณาใหม่ๆ มากขึ้น ผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการโฆษณามีผลต่อราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทิศทางที่สัมพันธ์กันสำหรับสมการอุปสงค์ซึ่งตรงข้ามกับความสัมพันธ์ในสมการอุปทาน ดังนั้นนโยบายจำกัดเวลาที่รัฐบาลนำมาใช้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค และผู้บริโภคเหล้าวิสกี้เท่านั้นมีพฤติกรรมการเสพติดที่มีเหตุผล และความสัมพันธ์ระหว่างเบียร์และเหล้าวิสกี้เป็นสินค้าทดแทนกัน ข้อเสนอแนะ คือ รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีอากรสำหรับการบริโภคเบียร์ให้สูงขึ้น และจัดเก็บภาษีให้เต็มเพดานในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อีกทั้งรัฐบาลควรสนับสนุนมาตรการการจำกัดเวลาการโฆษณา และสนับสนุนมาตรการที่ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงต้นทุนทางสังคม อันเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์