Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ของชาวจีนในเมืองไทยที่ปรากฏในนวนิยายไทย พ.ศ. 2512-2533 และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาพลักษณ์ของชาวจีนและบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า ภาพลักษณ์ของชาวจีนในไทยที่ปรากฏในนวนิยายช่วงทศวรรษ 2480-2500 มีภาพลักษณ์เป็น "คนอื่น" ผู้ร้าย ศัตรู กลุ่มผู้มีอิทธิพล "คอมมิวนิสต์" คนไม่มีคุณธรรม ต่างจากภาพลักษณ์ของชาวจีนในเมืองไทยที่ปรากฏในนวนิยายไทย พ.ศ. 2512-2533 ที่มีภาพลักษณ์เป็น "จีนสยาม" มีการปรับตัวกลายเป็นไทย มีความรู้สึกภาคภูมิใจในเชื้อชาติจีน และความเป็นจีนของตนเอง คนที่มีคุณธรรม ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี นายทุน นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ และแก้ไขภาพลักษณ์ "คอมมิวนิสต์" ให้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของชาวจีนในเมืองไทยที่ปรากฏในนวนิยายไทย พ.ศ. 2512-2533 มีปัจจัยมาจากสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทางด้านการเมือง ได้แก่ กฎหมายปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่ผ่อนคลายลง นโยบายของรัฐบาลที่เน้นการกีดกันทางเชื้อชาติลดลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการสะสมทุน และขยายตัวของกลุ่มทุนเชื้อสายจีน ทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การขยายและเติบโตของกลุ่มทุน การรวมตัวของสมาคมและองค์กรทางธุรกิจของชาวจีน ที่มีส่วนผลักดันต่อการเติบโตของกลุ่มนายทุน นักธุรกิจจีน ทำให้มีฐานะมั่งคั่ง และร่ำรวย จนสามารถเข้าไปมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การเปิดกว้างและยอมรับว่าสังคมไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเชื้อชาติ ทำให้สังคมไทยยอมรับว่าชาวจีนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยด้วย แม้ว่าแนวคิดความเป็นไทยกระแสหลักที่ดูถูก เหยียดหยาม ให้ชาวจีนเป็น "คนอื่น" ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยก็ตาม