Abstract:
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและวิเคราะห์อุดมการณ์ที่ปรากฏในละครโทรทัศน์ไทยว่ามีลักษณะอย่างไร และผู้ผลิตมีกระบวนการประกอบสร้างอุดมการณ์ในละครโทรทัศน์ไทยในช่วงภาวะวิกฤตทางการเมืองอย่างไร โดยทำการศึกษาจากละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยทำการคัดเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 15 เรื่อง ผลการวิจัยพบว่าอุดมการณ์ที่ปรากฏในละครโทรทัศน์ไทยในช่วงภาวะวิกฤตทางเมืองมีทั้งสิ้น 16 อุดมการณ์ แบ่งเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง 2 อุดมการณ์ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ 4 อุดมการณ์ และอุดมการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม 10 อุดมการณ์ ดังนี้ อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) ได้แก่ อุดมการณ์ชาตินิยม อุดมการณ์อำนาจนิยม อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ (Economic Ideology) ได้แก่ อุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์วัตถุนิยม – บริโภคนิยม อุดมการณ์เงินตรานิยม และอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง อุดมการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม (Social and Cultural Ideology) ได้แก่ อุดมการณ์ชนชั้น อุดมการณ์ศักดินา อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ อุดมการณ์สตรีนิยม อุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม อุดมการณ์พุทธศาสนา อุดมการณ์ไสยศาสตร์ อุดมการณ์ธรรมชาตินิยม อุดมการณ์ความรัก และอุดมการณ์ทางคุณธรรม ศีลธรรม จากการศึกษา พบว่า อุดมการณ์หลัก (Dominant Ideology) และอุดมการณ์ต่อต้าน (Counter Ideology) ที่ปรากฏอย่างชัดเจน คือ การต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์วัตถุนิยม-บริโภคนิยม อุดมการณ์เงินตรานิยมที่เป็นอุดมการณ์หลัก และอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง อุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมที่มักถูกนำเสนอเป็นอุดมการณ์ต่อต้าน นอกจากนี้อุดมการณ์ชนชั้น อุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์วัตถุนิยม-บริโภคนิยม และอุดมการณ์เงินตรานิยมมักถูกนำเสนอบ่อยครั้ง และเป็นอุดมการณ์ที่ถูกใช้เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง (Conflict) ในละครโทรทัศน์เสมอ โดยมีอุดมการณ์ความรัก เป็นตัวทลายความขัดแย้งทั้งหมดในท้ายที่สุด แต่อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ที่ปรากฏทั้งหมดนั้นล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของอุดมการณ์จิตนิยม (Idealism) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการกระทำของตัวละครจนก่อเกิดเป็นอุดมการณ์ โดยอุดมการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจาก “จิต” ของแต่ละบุคคลที่จะสั่งให้ร่างกายตั้งมั่น ยึดมั่นในอุดมการณ์แต่ละอย่างที่ต่างกัน กระบวนการประกอบสร้างอุดมการณ์ในละครโทรทัศน์ไทยในช่วงภาวะวิกฤตทางการเมือง มีผลมา จากสถานีโทรทัศน์ที่ถือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการนำเสนออุดมการณ์ โดยมีปัจจัยทางการตลาดที่เป็นตัวควบคุมระบบการทำงานที่คิดเป็นตัวเลขเรตติ้ง ซึ่งกำหนดให้เนื้อหาในละครโทรทัศน์ต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องรัก โลภ โกรธ หลง เนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยม โดนใจผู้ชม เข้าใจง่าย โดยมีผู้จัดละครโทรทัศน์เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมุมมองทัศนะและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้จัดละครโทรทัศน์จะถูกส่งผ่านไปยังคนเขียนบทโทรทัศน์ที่จะนำเสนอเนื้อหาที่เป็นผลให้เกิดอุดมการณ์ผ่านละครโทรทัศน์ตามความต้องการของสถานี และผู้จัดละคร ซึ่งบทละครโทรทัศน์จะถูกนำเสนอให้มีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ โดยมีสภาพทางสังคม รวมทั้งสภาวะวิกฤตทางการเมืองเป็นส่วนประกอบ แต่อุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤตทางการเมือง เช่น อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง จะถูกนำเสนออย่างฉาบฉวยเพื่อให้ละครมีความทันสมัยเท่านั้น