Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของการบริการโทรเวชกรรมในประเทศไทย ศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริการด้านโทรเวชกรรม ในอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และหาแนวนโยบายการบริการโทรเวชกรรมในประเทศไทย โดยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งใช้แบบสอบถาม และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า ในอดีตปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงเริ่มนำระบบการสื่อสารทางวิทยุรับ-ส่ง มาใช้ในการรักษาพยาบาลของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนับเป็นจุดเริ่มต้นของการบริการโทรเวชกรรม จากนั้นในปี พ.ศ. 2537-2546 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งให้คำปรึกษาทั้งภาพและเสียงผ่านจอคอมพิวเตอร์ ต่อมาปี พ.ศ. 2548 โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และโรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเริ่มให้บริการการรักษา ปี พ.ศ. 2550 การให้บริการเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และในปี พ.ศ. 2551 การรักษาพยาบาลด้วยรูปแบบนี้ได้เกิดขึ้นอีกใน 10 จังหวัดของประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลระดับบุคคลในอำเภออ่าวลึกที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อุบัติเหตุและผู้ป่วยที่เคยใช้บริการโทรเวชกรรมทุกราย ในปี พ.ศ. 2548-2549 รวม 2,498 ราย พบว่า มีผู้ป่วยร้อยละ 13 ที่รู้จักการบริการโทรเวชกรรม การศึกษาแบบจำลอง Binary Logistic Regression พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้บริการโทรเวชกรรม คือ อายุ รายได้ โรค การประเมินสุขภาพตนเอง ความถี่ในการไปโรงพยาบาล บุคคลที่ไปโรงพยาบาล,สถานีอนามัยกับผู้ป่วย ระยะทางและระยะเวลาการเดินทางระหว่างบ้านกับสถานีอนามัย แบบจำลองนี้สามารถอธิบายการไปใช้บริการได้ร้อยละ 67 ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่รับการรักษาด้วยโทรเวชกรรมมีประสิทธิภาพดีกว่าและมีประสิทธิผลที่ไม่ด้อยกว่าการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าในกลุ่มผู้ป่วยอุบัติเหตุนั้น การรักษาด้วยโทรเวชกรรมมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าและมีประสิทธิผลที่ไม่ด้อยไปกว่าการรักษาที่โรงพยาบาล ด้านนโยบายโทรเวชกรรมในอนาคต ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงและหน่วยงานนั้นต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ควรทำอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และต้องมีการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์กับประชากร