Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลต่อครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่ (FAST MODEL) ในสถาบันธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อศึกษาบทบาทที่คาดหวังและบทบาทที่ปฏิบัติจริงของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด และเพื่อศึกษาสัมพันธภาพระหว่างครอบครัวกับผู้ป่วยยาเสพติดในช่วงที่สมาชิกครอบครัวได้เข้ามาดูแลผู้ป่วยยาเสพติดขณะเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู กรอบแนวคิดและทฤษฎีวิจัยได้แก่ ทฤษฎีบทบาท แนวคิดเรื่องบทบาทของครอบครัวในการ ขัดเกลาทางสังคม แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในการเก็บข้อมูลผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับสมาชิกครอบครัวที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยยาเสพติดซึ่งเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแบบสมัครใจ ซึ่งได้คัดเลือกกรณีศึกษาจากการที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันธัญญารักษ์คัดเลือกมาให้จำนวน 12 กรณี ผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลต่อโครงสร้างสถาบันครอบครัวทำให้ขนาดของครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลงเป็นรูปแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สมาชิกครอบครัวที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดและมีเวลาให้กับผู้ป่วยได้มากกว่าสมาชิกคนอื่นในครอบครัว และการที่สมาชิกในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยด้วยตนเองทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกผู้ดูแลกับผู้ป่วยยาเสพติด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าครอบครัวมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถเลิกยาเสพติดได้ ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจถึงบทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด เพื่อที่จะนำมาเป็นประโยชน์ให้สมาชิกครอบครัวที่มีผู้ป่วยยาเสพติดเกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดต่อไปได้