Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจในโครงสร้างครอบครัวญี่ปุ่น ความเป็นมา จำนวนสมาชิก การอบรมสั่งสอน การปฏิบัติตามประเพณีในรอบปี และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิธีการวิจัยเป็นแบบมานุษยวิทยาโดยใช้เครื่องมือวิจัยในการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครอบครัวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในย่านถนนสุขุมวิทจำนวน 27 ครัวเรือน จากการศึกษาพบว่า 1. ครอบครัวญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก มีบุตรเพียง 1 หรือ 2 คน และยังคงมีลักษณะ Patrilineal descent กล่าวคือพ่อบ้านยังคงหารายได้เป็นหลัก ส่วนแม่บ้านเป็นผู้ดูแลบ้านและเลี้ยงดูบุตร แต่เมื่อมีเรื่องสำคัญ สามีกับภรรยาจะตัดสินใจร่วมกัน 2. ความคิดที่จะให้บุตรชายสืบทอดกิจการคนเดียวตามระบบครอบครัว อิเอะ เดิมนั้น เริ่มคลายตัวลง ครอบครัวญี่ปุ่นในไทยไม่ได้กำหนดผู้สืบทอดที่ชัดเจน 3. การอบรมเลี้ยงดูสมาชิกเมื่อยังเยาว์อยู่นั้นค่อนข้างเข้มงวด แต่เมื่อเติบโตขึ้นค่อนข้างจะให้อิสระทั้งชายและหญิง แต่จะเข้มงวดกับหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย 4. ชุมชนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ มีลักษณะ Heterogeneity ประกอบด้วยคนญี่ปุ่นที่หลายหลายด้วย ฐานะ ตำแหน่ง สถานะ อายุ ความพอใจ จะไม่มีความสัมพันธ์ในแนวราบ แต่จะมีความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง เมื่อสังกัดกับกลุ่ม หรือองค์การที่มี ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มค่อนข้างอบอุ่น 5. ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สำหรับบุตรก็จะให้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเช่นกันไม่มีความแตกต่างระหว่างชายหญิง แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง 6. การปฏิบัติตามประเพณีญี่ปุ่นในรอบปีเริ่มลดน้อยลงกว่าเมื่อตนเองยังอยู่กับครอบครัวเดิมในประเทศญี่ปุ่น 7. วัฒนธรรมประเพณีไทยเริ่มเข้ามามีส่วนในวงจรชีวิตของครอบครัวชาวญี่ปุ่นไม่ว่าในด้านการศึกษา หรือในด้านความเชื่อ ในด้านการศึกษา ครอบครัวญี่ปุ่นส่งบุตรเข้าเรียนโรงเรียนไทย หรือมีการพาบุตรของตนเข้าวัดไทยทำบุญเป็นต้น 8. ครอบครัวชาวญี่ปุ่นยังคงติดต่อกับวัฒนธรรมเดิมของตน คือ พ่อ แม่ พี่น้อง ไม่ได้ตัดขาดจากวัฒนธรรมเดิม ทำให้ครอบครัวยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้