Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2542 เป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษาระบบสังคมย่อยของสถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ซิกข์ มอญ เขมรและไทย โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครอบครัวจำนวน 200 ครอบครัว และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลจำนวน 600 คน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้เกณฑ์การคัดเลือกจากการสืบสายบรรพบุรุษมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ซิกข์ มอญ เขมร และไทย การเก็บข้อมูลอาศัยการแนะนำจากกลุ่มตัวอย่างที่เรียกว่า Snow-balling การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) และการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม รวมทั้งการสังเกตการณ์กิจกรรมในชุมชน ตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา 1 ปี สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยใช้โปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูล SPSS และ Ethnograph ผลการศึกษา พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในระบบสังคมย่อยของสถาบันครอบครัวของชาวไทยเชื้อสายซิกข์ มอญ เขมร และไทย ดังต่อไปนี้ – มีการเปลี่ยนแปลงในการเลือกคู่ครองจากผู้ใหญ่จัดหาให้เป็นการเลือกโดยตนเองมากขึ้นยกเว้นกลุ่มซิกข์ – มีการผสมผสานขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวกับการสมรสข้ามวัฒนธรรมมากขึ้นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ เขมรโปรตุเกส และเขมรจาม มีการอนุญาตให้สามารถสมรสนอกกลุ่มมากขึ้นในกลุ่มมอญและเขมรโปรตุเกส ส่วนกลุ่มอื่นยังมีน้อย – จำนวนสมาชิกลดลง ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีการตั้งครอบครัวใหม่มากขึ้น – การแสดงบทบาทของสมาชิกในครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ภรรยาเปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้านมาเป็นผู้ช่วยหารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวมากขึ้น ในขณะที่สามีเริ่มแสดงบทบาทในการช่วยเหลืองานบ้านและเลี้ยงลูกมากขึ้น สำหรับผู้อาวุโส พบว่าบทบาทในครอบครัวเริ่มน้อยลง มีฐานะเป็นผู้อาศัยมากกว่าเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในครอบครัวเช่นในอดีต ส่วนเด็กจะลดบทบาทในการช่วยทำงานหาเลี้ยงชีพในบ้านน้อยลง บทบาทเด่นของเด็กคือการเรียน – สำหรับอำนาจในครอบครัว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากสามีเป็นใหญ่ในครอบครัว มาเป็นการใช้อำนาจร่วมกัน (Equalitarian) – ส่วนค่านิยม พบว่าค่านิยมที่ครอบครัวให้ความสำคัญมากที่สุด คือการศึกษา ความขยันขันแข็ง การเคารพผู้อาวุโส การยึดมั่นในคุณธรรม และความรักในพวกพ้อง ค่านิยมเหล่านี้มีผลต่อความสำเร็จของสมาชิกในครอบครัว – ในส่วนการอบรมเลี้ยงดู พบว่าครอบครัวของทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์จะใช้วิธีอะลุ้มอล่วย (Authoritative) มากกว่าใช้การลงโทษรุนแรง ปัญหาที่พบในชุมชนมากที่สุดคือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจของเด็กในครอบครัว และปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเด็ก ส่วนปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงไม่พบ ในการแก้ปัญหานี้ ผู้วิจัยเสนอให้มีการลดบทบาทของพ่อแม่ในการแสวงหารายได้ให้น้อยลงเพื่อให้มีเวลาในการสร้างความรักและความอบอุ่นให้ลูกได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มบทบาทและความสำคัญของผู้สูงอายุในครอบครัวให้มากขึ้นด้วย