Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบระบบวรรณยุกต์และลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของวรรณยุกต์ในภาษาไทยกรุงเทพฯ ที่ออกเสียงโดยกลุ่มเด็กอายุ 6-7 ปี ซึ่งพูดภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร (MBKK) และในจังหวัดปัตตานี (MPTN) รวมทั้งทดสอบการรับรู้วรรณยุกต์ของคนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อได้ยินการออกเสียงวรรณยุกต์ของเด็กทั้ง 2 กลุ่มนั้น ลักษณะทางกลสัทศาสตร์ที่ศึกษา ได้แก่ ค่าความถี่มูลฐาน พิสัยของค่าความถี่มูลฐาน และค่าระยะเวลาของวรรณยุกต์ ที่ปรากฏในคำพยางค์เดียว ในบริบทคำพูดเดี่ยว จากผู้บอกภาษากลุ่มละ 5 คน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาพฤติกรรมของค่าดังกล่าวข้างต้นของผู้พูดภาษาไทยกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่ (TBKK) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการอ้างอิงด้วย ในการทดสอบการรับรู้ ใช้การทดสอบแบบ Identification task โดยสร้างคำเร้าการรับรู้จากข้อมูลเสียงของกลุ่มเด็กที่พูดภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ทั้ง 2 กลุ่ม แบ่งแบบทดสอบการรับรู้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ แบบทดสอบการรับรู้แบบ 3 ตัวเลือก และ 5 ตัวเลือก ผู้เข้าร่วมการทดสอบการรับรู้ เป็นผู้ใช้ภาษาไทยกรุงเทพฯ ในชีวิตประจำวัน ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมของค่าความถี่มูลฐาน แสดงให้เห็นว่าสัทลักษณะของวรรณยุกต์เอก โท และ จัตวา มีลักษณะคล้ายกัน ส่วนสัทลักษณะของวรรณยุกต์สามัญของกลุ่มผู้บอกภาษา MBKK ที่แตกต่างจากกลุ่มผู้บอกภาษา TBKK คือ กลางระดับตกตอนท้าย ส่วนกลุ่มผู้บอกภาษา MPTN มีสัทลักษณะเป็นเสียงกลางค่อนข้างต่ำระดับและกลางระดับตกตอนท้าย วรรณยุกต์ตรีของกลุ่มผู้บอกภาษา MBKK มีสัทลักษณะเป็นเสียงกลางขึ้นตก กลุ่มผู้บอกภาษา MPTN เป็นเสียงกลางขึ้นตก และกลางขึ้น นอกจากนี้ พบว่า วรรณยุกต์เปลี่ยนระดับมีพิสัยค่าความถี่มูลฐานกว้างกว่าวรรณยุกต์คงระดับ พฤติกรรมของค่าระยะเวลามีความสัมพันธ์กับระดับเสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์ โดยวรรณยุกต์ที่มีระดับเสียงที่สูงในช่วงท้าย (ตรี จัตวา) จะมีค่าระยะเวลาของวรรณยุกต์ที่มากกว่าวรรณยุกต์ที่มีระดับเสียงที่ต่ำในช่วงท้าย (เอก โท) สำหรับความแตกต่างระหว่างวรรณยุกต์คงระดับ (สามัญ เอก) ที่ออกเสียงโดยผู้บอกภาษาทั้ง 2 กลุ่มมีค่าความถี่มูลฐานที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติไม่ชัดเจน ความแตกต่างของพิสัยค่าความถี่มูลฐาน และค่าระยะเวลาของวรรณยุกต์สามัญกับวรรณยุกต์เอก ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนวรรณยุกต์เปลี่ยนระดับ (โท จัตวา) พบว่า ค่าความถี่มูลฐาน และ ค่าระยะเวลาของวรรณยุกต์ในผู้บอกภาษาแต่ละกลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการทดสอบการรับรู้ พบว่า จากแบบทดสอบทั้ง 2 ลักษณะ ผู้ฟังสามารถจำแนกหน่วยเสียงวรรณยุกต์ทั้ง 5 หน่วยเสียงที่ออกเสียงโดยผู้พูดภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ทั้ง 2 กลุ่มได้ ผู้ฟังสามารถแยกวรรณยุกต์ตรีออกจากวรรณยุกต์คงระดับอื่นๆ ได้ดี แต่มีความสับสนในการจำแนกวรรณยุกต์สามัญออกจากวรรณยุกต์เอก รวมทั้งจำแนกความแตกต่างระหว่างวรรณยุกต์โทและวรรณยุกต์จัตวาซึ่งเป็นวรรณยุกต์เปลี่ยนระดับออกจากกันและออกจากวรรณยุกต์อื่นๆได้ดี