Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา องค์ประกอบ หลักการและกลวิธีในการรำเชิดฉิ่งเมขลา โดยศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง โดยศึกษากระบวนท่ารำจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏยศิลป์ไทย จำนวน 5 ท่าน ได้แก่ ครูส่องชาติ ชื่นศิริ ครูจินดารัตน์ จารุสาร ครูรัจนา พวงประยงค์ ครูบุนนาค ทรรทรานนท์ และครูอัจฉรา สุภาไชยกิจ ผลการวิจัยพบว่า รำเชิดฉิ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้สำหรับการฝึกหัดท่ารำพื้นฐานของตัวนางและสำหรับรำอวดฝีมือของผู้แสดง ซึ่งใช้ลีลาการร่ายรำแบบละครใน เพื่อแสดงความหมายของกิริยาอาการของตัวละครในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น รำเชิดฉิ่งเมขลา แสดงการเดินทางในระยะไกล ไปอย่างสง่างาม เป็นต้น การรำเชิดฉิ่งเมขลามีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1.ใช้บทรำจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ 2. ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงโดยใช้ทำนองเพลงเชิด และตีฉิ่งกำกับจังหวะโดยตีเฉพาะเสียง “ฉิ่ง” ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ 3.การแต่งกายยืนเครื่องตัวนาง โดยกำหนดให้สวมเสื้อในนางแขนยาว และนุ่งห่มผ้าสีน้ำเงินทั้งตัวเพื่อแทนสีกายของนางเมขลา 4.มีการถือดวงแก้วด้วยมือขวาประกอบการรำ เพราะถือเป็นของวิเศษประจำกายนางเมขลา 5. ฉากวิมานรัตนา มีการจัดแสดง 2 แบบ คือใช้เตียงแดงเป็นฉากสมมติแบบละครไทยโบราณและการจัดฉากวิมานประกอบการแสดง ผู้ที่จะรับบาทบาทนางเมขลา ควรคัดเลือกผู้ที่มีหน้าตางดงาม สรีระโปร่ง เพรียว และมีความแคล่วคล่องว่องไว และเป็นผู้ที่มีพื้นฐานการรำละครได้อย่างงดงาม กระบวนท่ารำเชิดฉิ่งเมขลา มี 3 ขั้นตอน คือ (1)กระบวนท่ารำบนวิมาน มีท่ารำหลักได้แก่ ท่าเทพนม ท่าบัวชูฝัก ท่าเท้าวิมาน ท่าปิดวิมาน ท่าเยื้องกรายเพื่อออกจากวิมาน (2)กระบวนท่าเชิดฉิ่งแสดงการล่องลอยไปในอากาศ เริ่มด้วยท่ารำร่าย ท่าป้องหน้า ท่ากินนรรำสลับท่าประไลยวาต ท่าโก่งศิลป์ ท่าฝ่ายฟ้อน ท่าเมขลา ท่าพิสมัยเรียงหมอน ท่ากังหันร่อน ท่ากินนรฟ้อนฝูง มีท่ารำเฉพาะตัวนางเมขลา คือ ท่าโยนแก้ว ท่าทิ้งแก้ว และ(3) กระบวนท่ารำในเพลงเชิดเพื่อแสดงการเดินทางระยะไกลอย่างเร่งรีบในท่าเหาะขึ้น ท่าโหนลง แสดงการถึงจุดหมายปลายทาง ในการปฏิบัติท่ารำมีการเคลื่อนไหวขาและเท้า 3 ลักษณะ คือ การย่ำเท้าหรือการซอยเท้า การขยั่นเท้า และการห่มเข่าที่จะต้องปฏิบัติให้ลงตรงตรมจังหวะฉิ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการรำเชิดฉิ่ง สุนทรียะของการรำเชิดฉิ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของร่างกาย กล่าวคือ ในขณะที่ร่างกายส่วนบนมีการกล่อมหน้า ลักคอ กดเกลียวข้าง กดไหล่ในลักษณะการยักเยื้องนั้น ขณะเดียวกันร่างกายส่วนล่างที่ยืนด้วยขาเดียวและเท้าอีกข้างมีการยกหรือกระดกขึ้นที่ใช้การทรงตัวอย่างมั่นคงและสมดุลนั้น ก็มีการเข่าลงตามจังหวะฉิ่งไปพร้อมกันอย่างสอดคล้องและงดงาม รำเชิดฉิ่งเมขลา ถือเป็นศิลปะการแสดงขั้นสูงที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการและลีลาการร่ายรำของตัวนางในการแสดงนาฏยศิลป์ไทย กระบวนท่ารำเชิดฉิ่งตามแบบครูโบราณมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ สืบทอดและเผยแพร่ เพราะถือเป็นท่ารำต้นแบบในการสร้างสรรค์การแสดงเพื่อพัฒนาศาสตร์ด้านนาฏยศิลป์ไทยต่อไป