Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนอง 3 ด้านได้แก่ แรงจูงใจด้านึความน่าพึงปรารถนาของบุคคลเป้าหมาย แรงจูงใจด้านความเป็นไปได้ของการมีความสัมพันธ์กับบุคคลเป้าหมาย และแรงจูงใจด้านความน่าพึงปรารถนาของการมีความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เพื่อทำนายระดับความรุนแรงของความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองของบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลที่ยังมิได้สมรสและมีอายุระหว่าง 18-19 ปี จำนวน 1,207คน โดยมีผู้ร่วมการวิจัยที่เคยมีประสบการณ์ความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองจำนวน 600 คน เป็นเพศชายจำนวน 300 คน เพศหญิงจำนวน 300 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. แรงจูงใจด้านความน่าพึงปรารถนาของบุคคลเป้าหมาย แรงจูงใจด้านความเป็นไปได้ของการมี ความสัมพันธ์กับบุคคลเป้าหมาย และแรงจูงใจด้านความน่าพึงปรารถนาของการมีความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนอง สามารถอธิบายระดับความรุนแรงของความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองได้ (R2 = .277) 2. บุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบหมกมุ่นมีแนวโน้มที่จะมีประสบการณ์ความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองมากกว่าบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงและแบบไม่สนใจ แต่ไม่ต่างจากบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบหวาดกลัว นอกจากนี้ยังพบว่าบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงมีโอกาสที่จะเกิดความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองไม่แตกต่างกับบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบไม่สนใจ 3. แรงจูงใจด้านความน่าพึงปรารถนาของบุคคลเป้าหมายสามารถทำนายระดับความรุนแรงของความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองของบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบหมกมุ่นได้ (R2 = .293) แรงจูงใจด้านความเป็นไปได้ของการมีความสัมพันธ์กับบุคคลเป้าหมายสามารถทำนายระดับความรุนแรงของความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองของบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงได้ (R2 = .106) แรงจูงใจด้านความน่าพึงปรารถนาของการมีความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองสามารถทำนายระดับความรุนแรงของความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองของบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบหวาดกลัวได้ (R2 = .309) และของบุคคลที่มีลักษณะความผูกพันแบบไม่สนใจ (R2 = .333)