Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาหลักการแสดงของนางมโนห์รา ซึ่งเป็นตัวละครเอกในละครชาตรีเรื่อง มโนห์รา เกี่ยวกับความเป็นมา องค์ประกอบ และแบบแผนการแสดงเป็นนางมโนห์รา โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกต การแสดงบนเวที วีดีทัศน์ ภาพถ่าย และการฝึกหัดรำด้วยตนเองจากศิลปินต้นแบบที่มีประสบการณ์แสดงเป็นนางมโนห์ราผลการวิจัยพบว่า นางมโนห์รามีชาติกำเนิดเป็นกินรีที่มาพบรักกับมนุษย์ นางมีรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์เพศหญิง แต่มีปีกหางที่สามารถสวมใส่ให้บินได้ นางเป็นผู้ที่บุคลิกภาพสุภาพนุ่มนวล เป็นที่รักของพระญาติวงศ์และพระสวามี แต่แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็งและมีปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณและมีวาทศิลป์ดีสามารถเอาชีวิตรอดได้ในสถานการณ์คับขัน นางมโนราห์จึงเป็นตัวละครสำคัญในการแสดงละครชาตรีเรื่อง มโนห์รา ของกรมศิลปากร จัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นละครที่มีรูปแบบผสมผสานการแสดงละครชาตรีของชาวบ้าน ละครนอกและละครในของกรมศิลปากรเข้าด้วยกันแบบแผนการรำของนางมโนห์ราได้ต้นแบบการแสดงมาจากลักษณะของนางกษัตริย์ในละครนอกโดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. การรำใช้บท เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ที่หลากหลายและมีการเปลี่ยนอารมณ์อย่างรวดเร็ว โดยแสดงท่ารำเต็มตามแบบแผนละครรำ ในส่วนของบทร้องและทำนองเพลง ใช้ท่ารำกึ่งท่าธรรมชาติและเน้นน้ำเสียงตามอารมณ์ในส่วนของบทเจรจา แสดงความรู้สึกผ่านสีหน้าและแววตา และกระทบจังหวะแรงกว่าปกติ เมื่อรำในจังหวะเพลงประเภทเพลงชาตรี 2. การรำแบบนางมนุษย์ปนกินรี ใช้ในการรำมโนห์ราบูชายัญ และระบำกินรีร่อน ซึ่งเป็นท่ารำเฉพาะที่มีลักษณะของมนุษย์และกินรีผสมกัน เน้นการใช้อวัยวะร่างกายทุกส่วนที่มีทั้งความนุ่มนวลและคล่องแคล่วมีการกระทบจังหวะแรงให้สอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรีที่มีทั้งความไพเราะอ่อนหวานและรุกเร้ารวดเร็ว 3. การรำซัดท่า ใช้ในการรำซัดเลือกคู่ และท่ารับในเพลงชาตรี ซึ่งเป็นท่ารำเฉพาะที่ได้อิทธิพลจากละครชาตรีของชาวบ้าน เน้นการสั่นไหล่และสาวมืออย่างรวดเร็ว รวมทั้งร่ายรำให้พร้อมเพรียงสอดคล้องกับคู่รำและหมู่รำ การวิจัยบทบาทนางมโนห์รา เป็นหนึ่งในการวิจัยบทบาทเฉพาะตัวละครที่มีประโยชน์ต่อการแสดงและวิชาการด้านนาฏยศิลป์ไทย สะท้อนให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของนักนาฏยประดิษฐ์และนาฏยศิลปินอันควรค่าแก่การสืบทอดแบบแผนการแสดงให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป