Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาหลักการแสดงของนางศูรปนขา ซึ่งเป็นตัวละครเอกในละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน ศูรปนขาชมป่า เกี่ยวกับความเป็นมา องค์ประกอบ และแบบแผนการแสดงนางศูรปนขาและนางศูรปนขาตัวแปลง โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกตการแสดงบนเวที วีดีทัศน์ ภาพถ่าย และการฝึกหัดรำด้วยตนเองโดยศิลปินต้นแบบที่มีประสบการณ์แสดงเป็นนางศูรปนขา ผลการศึกษาพบว่า นางศูรปนขาเป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่องราวของละครดึกดำบรรพ์เรื่องรามเกียรติ์ ตามแบบแผนของกรมศิลปากร ที่ได้ต้นแบบบทละครมาจากบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งได้ทรงนำเค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์เรื่องรามายณะ ของอินเดีย แสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2491 นางศูรปนขาจัดเป็นนางยักษ์ชั้นสูงที่มีกิริยามารยาทไม่เรียบร้อย มีอิทธิฤทธิ์สามารถแปลงกายและเหาะเหินเดินอากาศได้ นางศูรปนขามีอุปนิสัยเอาแต่ใจตนเอง หยิ่งทะนง เจ้าเล่ห์เพทุบาย มีนิสัยเจ้าชู้ อีกทั้งยังมีนิสัยโลเลและพาลเมื่อไม่ได้มาซึ่งสิ่งที่หวังไว้ นางแปลงกายเป็นสตรีรูปงามเพื่อยั่วยวนพระรามและพระลักษมณ์ให้หลงใหลเมื่อไม่สมหวังจึงพาลและใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายผู้อื่น จากการที่นางแปลงกายนางศูรปนขาจึงมีลักษณะของนางยักษ์ที่เป็นนางกษัตริย์และนาแปลงที่มีลักษณะของนางยักษ์แฝงอยู่ แบบแผนการรำของนางศูรปนขามีลักษณะสำคัญ 2 รูปแบบ คือ 1. ตัวนางยักษ์ ใช้ท่ารำเฉพาะของนางยักษ์ มีการรำที่หนักแน่น สง่างามอย่างนางยักษ์ วงและเหลี่ยมกว้างกว่าตัวนางปกติ 2. ตัวนางยักษ์แปลงใช้ท่ารำที่ผสมระหว่างตัวนางยักษ์และตัวนางรำอย่างกระฉับกระเฉงว่องไว มีจริตมารยา เน้นการกระทบจังหวะ แรงและหนักแน่งอันเป็นลักษณะแฝงของนางยักษ์ นอกจากนี้ ยังมีการแทรกบทบาทตลกแต่ไม่หยาบคาย เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม การขับร้องต้องร้องตรงจังหวะ ร้องเต็มเสียงและเสียงไม่เพี้ยน มีการเน้นเสียงสูงและต่ำให้สอดคล้องกับอารมณ์ตามบทบาท รวมทั้งเน้นการแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าและแววตาให้ชัดเจนในระดับมากกว่าปกติ ส่วนเครื่องแต่งกายเครื่องทรงกษัตรีย์ตามแบบละครหลวง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมการแสดงให้ดูสมจริงมากขึ้น การวิจัยบทบาทของนางยักษ์ในละครรำของไทยมีอยู่เป็นจำนวนน้อย ควรมีการศึกษาในด้านบทบาทการแสดงของตัวละครประเภทนางยักษ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการนาฏยศิลป์ไทยทั้งด้านการแสดงและด้านงานวิชาการ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของนาฏยศิลป์ที่แสดงบทบาทนางยักษ์และเผยแพร่รูปแบบการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์และดำรงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป