Abstract:
ศึกษาปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน สื่อมวลชน ความเชื่อทางศาสนาและเหตุผลทางปัญญา ที่มีผลต่อการบริจาคเงินให้วัดของพุทธศาสนิกชน โดยศึกษาวัดปากน้ำ กรุงเทพมหานครเป็นกรณีศึกษา และใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ดังนี้คือ การขัดเกลาทางสังคม ศาสนา การทำบุญในพุทธศาสนา เหตุผลทางปัญญา และทฤษฎีการหน้าที่นิยม ส่วนระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลนั้น เป็นการวิจัยสนามทางมานุษยวิทยา (Anthropological Fieldwork) หรือการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) และใช้เทคนิควิจัยทางมานุษยวิทยาหลายรูปแบบ เช่น การสำรวจลักษณะทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชน การเก็บประวัติชุมชน การสำรวจประชากร การสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ การสังเกตทั่วไป และการจดบันทึกสนาม (Field Notes) ส่วนเทคนิควิจัยหลักที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อพิสูจน์สมมติฐาน คือ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพุทธศาสนิกชนของวัดปากน้ำจำนวน 20 คน ลักษณะสำคัญของประชากรเหล่านี้คือ ผู้ที่มาบริจาคเงินให้วัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2545 ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีศรัทธาในวัดปากน้ำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาสคือ หลวงพ่อวัดปากน้ำหรือหลวงพ่อสดซึ่งได้พัฒนาวัดปากน้ำ จากสภาพกึ่งวัดร้างที่มีสภาพทรุดโทรม จนกลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยการพัฒนาทั้งคนและวัดตลอดจนเผยแพร่วิชาธรรมกายจนมีชื่อเสียง แม้หลวงพ่อสดจะได้มรณภาพไปแล้ว แต่ชื่อเสียงของวัดปากน้ำยังมีอยู่ต่อไป ทำให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาวัดนี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้บริจาคเงินให้วัดปากน้ำเป็นจำนวนมากอีกด้วย ผลวิจัยพบว่า สมมติฐานที่ได้รับการยอมรับคือ พุทธศาสนิกชนเพศหญิงบริจาคเงินให้วัดปากน้ำมากกว่าพุทธศาสนิกชนเพศชาย ความเชื่อทางศาสนาและเหตุผลทางปัญญา มีอิทธิพลทำให้พุทธศาสนิกชนบริจาคเงินให้วัดปากน้ำ นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบอีกว่า วัดปากน้ำได้นำเงินที่พุทธศาสนิกชนบริจาคไปใช้อย่างมีคุณค่า โดยมีคณะกรรมการคอยติดตามและประเมินผล เพื่อเป็นหลักประกันว่าเงินบริจาคเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำให้สังคมและพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าสืบต่อไป