Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบความหมาย โครงสร้างไวยากรณ์ และบริบทการใช้คำกริยาช่วยที่สื่อความประสงค์หรือความต้องการ“想”,“要”, “想要”,“会”และ“愿意”ในภาษาจีนกลางกับคำที่มีลักษณะเดียวกันในภาษาไทย ผลการวิจัยพบว่า คำกริยาช่วยที่สื่อความประสงค์หรือความต้องการ“想”,“要”และ“想要”ในภาษาจีนกลาง มีความหมายเทียบเคียงได้กับคำกริยาช่วย “อยาก (จะ)”, “ต้องการ (จะ)”, “ปรารถนา (จะ)”, “ประสงค์ (จะ)” ในภาษาไทย ส่วนคำกริยาช่วย“愿意”ในภาษาจีนกลางก็สามารถเทียบเคียงได้กับคำกริยาช่วย “จะ”, “คิด (จะ)”, “ยินดี (จะ)”, “เต็มใจ (จะ)”, “ตั้งใจ (จะ)” ในภาษาไทย อย่างไรก็ตาม คำกริยาช่วย“会”ที่ใช้สื่อความหมายถึง “การสัญญา” ในภาษาจีนกลางตามที่อ้างถึงในงานวิจัยที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง หรือไม่ได้สื่อความหมายที่ชัดเจนแน่นอนถึงความประสงค์หรือความต้องการ ดังเช่นที่พบในกรณีของคำกริยาช่วย“想”,“要”,“想要”และ “愿意”ที่สื่อความประสงค์หรือความต้องการในภาษาจีนกลาง เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างไวยากรณ์ที่มีการใช้คำกริยาช่วยที่สื่อความประสงค์หรือความต้องการในภาษาทั้งสอง พบว่าส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น คำกริยาช่วยเหล่านี้สามารถปรากฏใช้ในประโยคที่มีกรรมทำหน้าที่ควบเป็นประธาน และในประโยคโครงสร้างกริยาเรียง หรือประธานในประโยคที่ใช้คำกริยาช่วยดังกล่าวต้องเป็นคนและ/หรือสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก หรือสิ่งไม่มีชีวิตที่สามารถใช้ในความหมายแทนมนุษย์ได้ เป็นต้น ในด้านบริบททางวัฒนธรรมและบริบททางสถานการณ์ พบว่าคำกริยาช่วยที่สื่อความประสงค์หรือความต้องการ“想”,“要”,“想要”และ“愿意”ในภาษาจีนกลางกับคำที่มีลักษณะเดียวกันในภาษาไทย สามารถปรากฏในบริบทที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีอาวุโสเสมอกันหรือแตกต่างกัน และสามารถใช้ในเหตุการณ์สื่อความประสงค์ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต