Abstract:
ศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับมัสยิดในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผลต่อการเกิดมัสยิดรูปแบบต่างๆ ผ่านการสร้างมัสยิดในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงมโนทัศน์ของมุสลิมที่มีต่อมัสยิดในกรุงเทพฯ โดยศึกษาปัจจัยสำคัญอันได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯ วัฒนธรรมอิสลาม ลักษณะทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและอิทธิพลจากต่างชาติที่มีต่อสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของมุสลิมเชื้อชาติต่างๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ผ่านทางลักษณะทางสถาปัตยกรรมของมัสยิด โดยรวบรวมข้อมูลจากมัสยิด 175 แห่งในกรุงเทพฯ แล้วศึกษาในเชิงลึกเฉพาะ 40 แห่ง จัดเป็นหมวดหมู่และวิเคราะห์แนวคิดตามกระบวนการพัฒนาแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในการศึกษานี้แบ่งได้ดังนี้ 1. ช่วงเวลาแห่งการสร้างมัสยิดตามรูปแบบสถาปัตยกรรมประเพณี 2. ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่อารยธรรมสากล 3. ช่วงเวลาแห่งการทบทวนอัตลักษณ์ของมุสลิม 4. ช่วงเวลาแห่งการกลับสู่หลักการพื้นฐานเพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ ผลของการศึกษาพบว่า มโนทัศน์ของมุสลิมในกรุงเทพฯ ที่มีต่อมัสยิดมีดังต่อไปนี้ 1. มัสยิดในฐานะที่เป็นบ้านของพระเจ้า 2. มัสยิดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางชุมชนมุสลิม 3. มัสยิดในฐานะที่เป็นสถาปัตยกรรมอิสลามที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของมุสลิม ในแต่ละช่วงเวลา สามารถสรุปแนวคิดและรูปแบบของสถาปัตยกรรมมัสยิดได้ดังนี้ 1. แนวคิดในการอยู่ตามสภาพท้องถิ่น – รูปแบบท้องถิ่น 2. แนวคิดในการอิงกับอำนาจท้องถิ่น – รูปแบบไทยประเพณี 3. แนวคิดในการสร้างอัตลักษณ์โดยเชื่อมโยงกับเชื้อชาติ – รูปแบบประเพณีจากต่างชาติ 4. แนวคิดในการโหยหาอดีต – รูปแบบอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอิสลาม 5. แนวคิดในการฟื้นฟูศาสนา – รูปแบบอาหรับประยุกต์ 6. แนวคิดในการทบทวน – รูปแบบที่เน้นเหตุผล 7. แนวคิดในการเปิดตัวสู่วัฒนธรรมสากล – รูปแบบสมัยใหม่ 8. แนวคิดในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ – รูปแบบคลาสสิคใหม่