Abstract:
โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับสองในสตรีทั่วโลก มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสแปปิโลมา มีความพยายามศึกษากลไกการก่อมะเร็งของไวรัสแปปิโลมาแต่ทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีโมเดลสัตว์ทดลองที่เหมาะสม ในการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์พัฒนาโมเดลหนูทดลองเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของแกมมา-เดลตา ทีเซลล์ (gamma-delta T cell) ต่อเซลล์มะเร็งปากมดลูกเปรียบเทียบกับการทดลองในหลอดทดลอง ผลการทดลองในหนูพบว่า การปลูกถ่ายด้วยเซลล์ HeLa จำนวนน้อยที่สุดคือ 2.5 x 105 เซลล์ สามารถทำให้เกิดก้อนเนื้องอกในหนูทดลองได้ จำนวนเซลล์ที่ปลูกถ่ายมีความสัมพันธ์กับขนาดของก้อนเนื้องอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2=0.98, y=0.1171x+4.35) เมื่อนำเซลล์แกมมา-เดลตา ทีเซลล์ฉีดเข้าหนูทดลอง พบว่า เซลล์มีความสามารถในการฆ่าเซลล์มะเร็งปากมดลูก และความสามารถจะเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากยาปามิโดรเนท จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าเซลล์มะเร็งปากมดลูกที่มีความไวต่อเซลล์แกมมา-เดลตา ทีเซลล์ที่สุดคือเซลล์ HeLa รองลงมาคือ SiHa และ CaSki กลไกการฆ่าของเซลล์แกมมา-เดลตา ที่เซลล์นั้นเกี่ยวข้องกับ CD 107 กระตุ้นผ่านทาง granzyme และ perforin มีการหลั่งไซโตไคน์ชนิด Interferon gamma และ TNF alpha ด้วย ข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด นอกจากนี้ในการวิจัยครั้งนี้ได้ทำการเตรียมโปรตีนบริสุทธิ์ของไวรัสแปปิโลมา คือ E6 และพัฒนาเซลล์ที่แสดงออกโปรตีน E6 ของไวรัสแปปิโลมา เพื่อประโยชน์ในการศึกษากลไกการก่อโรคและพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการต่อไป