Abstract:
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรากฏของไกลโคสอะมิโนไกลแคนส์ชนิดที่ไม่มีซัลเฟต (ไฮยาลูโรแนน) และชนิดที่มีซัลเฟต (syndecan-1, syndecan-2) การปรากฏของตัวรับ CD44 การปรากฏของโปรตีน Fas และ Fas ligand (FasL) รวมทั้งการแสดงออกของ FasL mRNA ภายในท่อนำไข่กระบือปลักไทย ซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานของรังไข่ เก็บอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียของกระบือปลักจากโรงฆ่าสัตว์จำนวนทั้งหมด 40 ตัว แบ่งกลุ่มของกระบือปลักออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะที่พบทางมหกายภาคของรังไข่ทั้งสองข้างคือ ระยะฟอลลิคูลาร์ (จำนวน 20 ตัว) และระยะลูเทียลช่วงกลาง (จำนวน 20 ตัว) อวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียที่เก็บได้จะนำมาตรวจสอบและไม่มีความผิดปกติทางพยาธิวิทยา จากนั้นจึงนำตัดแบ่งท่อนำไข่ออกเป็น 4 ส่วนประกอบด้วย ส่วนรอยต่อของปีกมดลูกและท่อนำไข่ (uterotubal junction, UTJ) อิสธ์มัส แอมพูลลา และอินฟันดิบูลัม เก็บชิ้นเนื้อตัวอย่างส่วนหนึ่งใน 4% พาราฟอร์มัลดีไฮด์ ผ่านกระบวนการทำพาราฟิน นำมาศึกษาการปรากฏของไฮยาลูโรแนนด้วยวิธีฮิสโตเคมี ศึกษาการปรากฏของ syndecan-1, syndecan-2, CD44, Fas, FasL ด้วยวิธีอิมมูนโนฮิสโตเคมี และชิ้นเนื้ออีกส่วนหนึ่งที่เก็บไว้ในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส จะนำมาสกัดแยก RNA เพื่อนำไปตรวจสอบการแสดงออกของ FasL mRNA ด้วยวิธี RT-PCR ผลการศึกษาเกี่ยวกับไกลโคสอะมิโนไกลแคนส์ พบการปรากฏของไฮยาลูโรแนน syndecan-1 และ syndecan-2 อย่างเด่นชัดในท่อนำไข่กระบือปลัก โดยการปรากฏของไฮยาลูโรแนนและ syndecan-2 เท่านั้นที่พบความเข้มในการติดสีบวกเข้มชัดเจนในส่วน UTJ และอิสธ์มัสเมื่อเปรียบเทียบกับท่อนำไข่ส่วนอื่น และปรากฏชัดเจนมากในระยะฟอลลิคูลาร์ ขณะที่ตัวรับของไฮยาลูโรแนน CD44 ปรากฏที่เซลล์เยื่อบุของท่อนำไข่ทุกส่วนโดยเฉพาะในระยะฟอลลิคูลาร์ สำหรับการศึกษาการทำงานของระบบ Fas-FasL พบว่า การปรากฏของโปรตีน Fas สามารถพบได้ในเยื่อบุผิวท่อนำไข่กระบือปลักทุกส่วน โดยไม่พบความแตกต่างในระดับความเข้มของการติดสีบวกเมื่อเปรียบเทียบในท่อนำไข่แต่ละส่วน และระหว่างระยะของวงรอบการเป็นสัด ขณะที่ การปรากฏของโปรตีน FasL ภายในท่อนำไข่กระบือส่วน UTJ และอิสธ์มัสในระยะฟอลลิคูลาร์ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับระยะลูเทียลช่วงกลาง สัมพันธ์กับการแสดงออกของ FasL mRNA ซึ่งแถบความเข้มพบได้อย่างเด่นชัดใน UTJ และอิสธ์มัสโดยเฉพาะระยะฟอลลิคูลาร์ โดยพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับระยะลูเทียลช่วงกลาง ผลการศึกษาที่ได้ระบุเป็นครั้งแรกในกระบือปลักถึงการทำหน้าที่ของไฮยาลูโรแนนซึ่งอาจทำงานร่วมกับ CD44 เพื่อรักษาการมีชีวิตรอดของเซลล์อสุจิในช่วงก่อนการตกไข่ รวมทั้งหน้าที่ของ syndecan-2 ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการคาปาซิเตชั่นและการปลดปล่อยของเซลล์อสุจิภายในบริเวณที่กักเก็บเซลล์อสุจิ นอกจากนี้ การปรากฏของโปรตีน Fas และ FasL และการแสดงออกของ FasL mRNA ในบริเวณที่กักเก็บเซลล์อสุจิอาจเป็นข้อมูลสนับสนุนว่า ท่อนำไข่กระบือปลักมีกลไกที่จัดเป็นอวัยวะที่เรียกว่า immune privileged organ