Abstract:
ชาวญี่ปุ่นเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานพร้อมกับนำครอบครัวเข้ามาพักอาศัยอยู๋ด้วย คนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมและวีถีชีวิตแตกต่างชนชาติอื่น ๆ อย่างชัดเจน และเชื่อมโยงไปยังความต้องการที่อยู่อาศัย จากสมมติฐานที่ว่า บ้านที่ได้รับการออกแบบมาโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ ของผู้อาศัยเป็นพิเศษนั้น ย่อมจะได้เปรียบกว่าบ้านที่ถูกออกแบบสำหรับบุคคลทั่วไป งานวิจัยนี้ จึงต้องการศึกษาความต้องการทางกายภาพของที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่น และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโครงการในอนาคต รวมไปถึงการปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิม โดยศึกษาจากโครงการเช่าพักอาศัยสำหรับชาวญี่ป่นบริเวณถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 39-55 ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นมาก การวิจัยนี้ใช้วิธีการลงสำรวจพื้นที่ การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ การสัมภาษณ์บริษัทนายหน้าหาบ้านเช่าของชาวญี่ปุ่น และการใช้แบบสอบถามผู้เช่าชาวญี่ปุ่น จำนวน 222 ราย ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้: 1. ลักษณะที่อยู่อาศัยที่เป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่น เป็นอพาร์ทเม้นท์ 3 ห้องนอนขึ้นไป ราคาเฉลี่ยระหว่าง 50,000-80,000 บาทต่อเดือน ห้องพักมีขนาดมากกว่า 200 ตร.ม. และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ และพื้นที่จอดรถรับส่งที่ปลอดภัย เพราะคนญี่ปุ่นนิยมใช้ชีวิตแบบมีส่วนร่วมกับชนชาติเดียวกัน (Collectivistic Tendency) ทำให้พื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้ ถูกใช้งานจากแม่บ้านและบุตรเป็นจำนวนมากพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในช่วงหลังเลิกเรียน 2.องค์ประกอบหลักภายในห้องพักที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ ประกอบด้วย 3 อย่างคือ 1.ทางเข้าบ้านแบบญี่ปุ่น (Genkan) ที่แยกออกจากห้องนั่งเล่น และปูพื้นด้วยวัสดุที่คงทนกว่าพื้นไม้ เช่น หิน หรือกระเบื้อง 2.ห้องครัวที่มีลักษณะเปิดโล่งเป็นห้องเดียวกันกับห้องนั่งเล่นเพราะแม่บ้านชาวญี่ปุ่นต้องการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของครอบครัว และสามารถดูแลบุตรได้ในขณะที่ทำครัว ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่นิยมจ้างผู้ดูแลบุตร เพราะมองว่าไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินที่มีค่าภายในบ้าน และ 3.ห้องอาบน้ำที่ต้องแยกบริเวณฝักบัวกับอ่างอาบน้ำอย่างชัดเจน เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมใช้อ่างอาบน้ำทุกวัน และมีการชำระร่างกายด้วยฝักบัว(ฟอกสบู๋และสระผม) ก่อนจะลงออ่างแช่น้ำเพื่อความผ่อนคลาย นองจากองค์ประกอบในห้องพักแล้ว สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นต้องการคือ ห้องพักสำหรับพนักงานขับรถ เพราะทุกห้องจะมีคนขับรถของบริษัทคอยให้บริการอยู่ตลอดเวลา 3.จากการเปรียบเทียบลักษณะห้องพักภายในโครงการที่มีในปัจจุบัน กับความต้องการของชาวญี่ปุ่น ผู้วิจัย พบว่า รูปแบบของที่อยู่อาศัยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนญี่ปุ่นเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่จะขาดปัจจัยหลักทางกายภาพภายในห้องพักดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ปัจจัย รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงพอ จากผลของการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โครงการที่มีอยู่เดิมยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวญี่ปุ่นได้ดีเท่าที่ควรผู้วิจัยจึงเสนอแนะ สำหรับโครงการเดิมควรมีการปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางเป็นพิเศษ เนื่องจากว่ามีการใช้งานมาก และจะทำให้ได้ผลตอบรับที่ดีจจากลูกค้าทุกคน ขณะที่หากมีการปรับปรุงพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละห้อง จะได้ผลดีเป็นห้อง ๆ ไป และอาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากห้องพักไม่ได้มีการออกแบบให้ตรงตามความต้องการตั้งแต่แรก ประกอบกับมีต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงมาก และไม่สามารถขึ้นค่าเช่าให้คุ้มค่าได้ สำหรับการพัฒนาโครงการใหม่นั้น ก็ควรจะนำความต้องการของชาวญี่ปุ่นมาพิจารณาร่วมกับการออกแบบ ทั้งนี้เพื่อให้มีโครงการที่สามารถสร้างประโยชน์ทั้งกับผู้พัฒนาและผู้อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด