Abstract:
กลไกและพยาธิกำเนิดของการติดต่อโรคพีอาร์อาร์เอสจากแม่สู่ลูกยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดเนื่องจากยังขาดข้อมูลถึงความสามารถของการติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ เพื่อการศึกษาดังกล่าวด้วยการใช้เซลล์เยื่อบุมดลูกสุกรแบบเพาะเลี้ยงเบื้องตันและทำการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซลล์ (ซีพีอี) การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิดโดยเฉพาะการต้านทาน และการหลั่งไซโตคายน์ชนิดอักเสบเมื่อได้รับเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสจากสายพันธุ์ยูเอส หรืออียู ทางด้านท่อหรือด้านฐานเปรียบเทียบกัน การเปลี่ยนแปลงการปรากฏของโปรตีน และยีนของตัวรับชนิด CD151 CD163 และSn ต่อเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์สามารถติดเชื้อและมีความเสียหายเกิดขึ้นไดัรับการตรวจสอบด้วยวิธี RT-PCR และอิมมูโนฮิสโตรเคมีตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าเซลล์เยื่อบุมดลูกสุกรปกติมีการปรากฏของตัวรับทั้งสองชนิดทั้งในระดับต่ำมาก การได้รับเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสทั้งสองสายพันธุ์เพิ่มการแสดงออกของตัวรับทั้งสองในระดับยีน และโปรตีน โดยที่สายพันธุ์ยูเอสจะเหนี่ยวนำให้แสดงออกได้มากกว่า(P<0.05) เซลล์ที่ได้รับเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นแบบพวงองุ่น และรวมตัวกันเป็นเซลล์ขนาดใหญ่หลังจากรับเชื้อ 2 วัน และพบความเสียหายของเซลล์หลังได้รับเชื้อ 6 วัน โดยที่เชื้อที่ให้ไปทางด้านทางด้านท่อทั้งสองสายพันธุ์สามารถติดต่อเข้าสู่เซลล์ของมดลูกได้หลังจากได้รับเชื้อ 2 วันโดยการตรวจสอบด้วยอิมมูโนฮิสโตรเคมี โดยที่สายพันธุ์ยูเอสเท่านั้นที่สามารถติดต่อจากทางด้านฐานและอยู่ในเซลล์ได้ถึง 6 วัน เชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสทั้งสองสายพันธุ์จะกระตุ้นให้หลั่งไซโตคายน์ ชนิด IL-6, IL-8 or IFN-γ จากเซลล์เยื่อบุมดลูก โดยที่สายพันธุ์ยูเอสจะเหนี่ยวนำให้เซลล์ขับหลั่งได้มากกว่า (P<0.05) อย่างไรก็ตามถ้าเซลล์ได้รับการติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ทางด้านฐานพบว่าทำให้เกิดการยับยั้งการหลั่ง IL-8 ออกมาทางด้านฐานของเซลล์ ในด้านการศึกษาความต้านทานของเยื่อบุโดยการวัดความต้านทานทางไฟฟ้าของเซลล์เยื่อบุ (TER) พบว่าค่า TER ลดลงเมื่อเซลล์ได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อียูไปเพียง 2 วัน แต่จะกลับมีค่าเท่ากับก่อนได้รับการติดเชื้อหลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 6 วัน เป็นที่น่าสนใจว่าเซลล์ที่ได้รับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อียูตั้งแต่ 4 วันมีค่า TER ที่สูงมากกว่าเซลล์ปกติ หรือเซลล์ที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์ยูเอส (P<0.05) การศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าเซลล์เยื่อบุมดลูกที่มีการแสดงออกของตัวรับเชื้อไวรัสไวรัสพีอาร์อาร์เอสในปริมาณน้อยสามารถมีการติดเชื้อได้ และการติดเชื้อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ยูเอสสามารถกระตุ้นให้มีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าไวรัสสายพันธุ์อียู โดยที่ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของตัวรับเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับการติดเชื้อนั้นอาจเป็นเป้าหมายที่สำคัญต่อการรักษา หรือการที่จะนำเซลล์ของเยื่อบุมดลูกมาเป็นเซลล์ที่ใช้เพาะเลี้ยงไวรัสพีอาร์อาร์เอสเพื่อการผลิตวัคซีนต่อไป