Abstract:
แม่สุกรอุ้มท้องที่มีระยะอุ้มท้อง 12 สัปดาห์ จำนวน 4 ตัว (4 สัปดาห์ก่อนคลอด) ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 3 ตัว ป้อนเชื้อไวรัสพีอีดีที่แยกได้ในประเทศไทย (สายพันธุ์ 08NP02) ที่ถูกทำให้อ่อนกำลังลงโดยการเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยง จำนวน 53 รอบ ด้วยการป้อนทางปาก (Oral inoculation) ที่ 4 และ 2 สัปดาห์ก่อนคลอด ซึ่งมีปริมาณไวรัสไม่ต่ำกว่า 105 TCID50/ml จำนวน 5 มิลลิลิตร/ตัว และกลุ่มที่ 2 จำนวน 1 ตัว เป็นกลุ่มควบคุม จากนั้นลูกสุกรที่เกิดจากแม่ทั้ง 2 กลุ่มภายหลังจากได้รับนมน้ำเหลือง 2 วันมาทำการป้อนเชื้อพิษทับด้วยไวรัสพีอีดีที่ก่อโรครุนแรงสายพันธุ์ 08NP02 (Wild-type) โดยการป้อนทางปาก ซึ่งมีปริมาณไวรัสไม่ต่ำกว่า 105 TCID50/ml จำนวน 2 มิลลิลิตร/ตัว บันทึกและสังเกตอาการท้องเสีย อาเจียนในลูกสุกรที่ถูกป้อนเชื้อพิษทับนาน 5 วัน ศึกษาการขับเชื้อไวรัสผ่านทางอุจจาระหลังป้อนเชื้อพิษทับในลูกสุกร โดยทำการเก็บตัวอย่างอุจจาระทุกวัน ลูกสุกรอย่างน้อย 2 ตัวต่อแม่ (1 ตัวต่อแม่ ในกลุ่มควบคุม) ถูกนำมาผ่าชันสูตรซากที่ 12, 24, 48, 72 และ120 ชั่วโมงหลังป้อนเชื้อพิษทับ เพื่อศึกษารอยโรคทางมหพยาธิวิทยา และจุลพยาธิวิทยา และเก็บตัวอย่างลำไส้เล็กเพื่อตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสพีอีดี จากผลการทดลอง แม่สุกรกลุ่มที่ 1 ไม่มีการแสดงอาการท้องเสีย หรือการขับไวรัสพีอีดีผ่านทางอุจจาระ เมื่อทำการป้อนเชื้อพิษทับในลูกสุกร พบว่า ลูกสุกรจากแม่สุกรกลุ่มที่ 1 ร้อยละ 63.63 แสดงอาการท้องเสียภายใน 1 วันหลังป้อนเชื้อพิษทับ ขณะที่ลูกสุกรทุกตัวจากกลุ่มควบคุมแสดงอาการท้องเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตามลูกสุกรทั้ง 2 กลุ่มแสดงอาการท้องเสียภายใน 2-5 วันหลังป้อนเชื้อพิษทับ และให้ผลบวกต่อโรคพีอีดีด้วยวิธี RT-PCR ในอุจจาระ พบลักษณะผนังลำไส้บาง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเยื่อแขวนลำไส้มีการขยายขนาด และมีของเหลวสีเหลืองในลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มทดลอง คะแนนเฉลี่ยรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาในกลุ่มลูกสุกรทดลองทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ปริมาณไวรัสในลำไส้เล็กของลูกสุกรในกลุ่มควบคุมจะสูงกว่าลูกสุกรในกลุ่มที่ 1 โดยเฉพาะช่วง 48 ชั่วโมงหลังป้อนเชื้อพิษทับ การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าปริมาณการป้อนเชื้อพิษทับอาจสูงเกินไปจึงมีผลทำให้ลูกสุกรแสดงอาการท้องเสียรุนแรงมากกว่าที่ตั้งสมมติฐานไว้ ผลจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ลูกสุกรที่มาจากแม่สุกรกลุ่มที่ 1 ได้รับการปกป้องต่อโรคพีอีดีเพียงบางส่วนในช่วงแรกจากการดูดนมน้ำเหลือง และภูมิคุ้มกันจากน้ำนมจะช่วยลดความรุนแรงของอาการทางคลินิก และการขับเชื้อไวรัสได้ภายหลังป้อนเชื้อพิษทับด้วยไวรัสพีอีดีที่ก่อโรครุนแรง ทั้งนี้การทดลองในอนาคตจำเป็นต้องกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดเยื่อเมือกผ่านนมน้ำเหลืองในแม่สุกรให้มากขึ้น