Abstract:
การศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคการจัดท่าสุนัขเพื่อถ่ายภาพรังสี ข้อสะโพกระหว่างท่ากดข้อสะโพก 2 ท่า กับท่ามาตรฐานเพื่อหาเทคนิคการจัดท่าสำหรับรังสีวินิจฉัยที่เหมาะสม ทำได้ง่ายและมีความไวในการวัดการเคลื่อนออกบางส่วนของข้อสะโพก โดยศึกษาในสุนัขพันธุ์ใหญ่ 40 ตัว แบ่งเป็น 2กลุ่ม กลุ่มละ 20 ตัว กลุ่มแรกมีข้อสะโพกปกติ กลุ่มที่ 2 มีข้อสะโพกเจริญผิดปกติในระดับรุนแรงน้อยถึงรุนแรงปานกลาง ตามมาตรฐานของ The Orthopedic Foundation for Animals (OFA) ถ่ายภาพรังสีข้อสะโพกสุนัขแต่ละตัวภายหลังการวางยาสลบสุนัขตัวละ 3 ท่า ท่าที่ 1 เป็นท่ามาตรฐาน จัดให้สุนัขนอนหงายและดึงขาหลังเหยียดขนานกันไปทางด้านท้ายของลำตัว ท่าที่ 2 เป็นท่ากด 60 องศา จัดให้สุนัขนอนหงายคล้ายท่ามาตรฐานแต่ดึงสองขาหลังให้เหยียดขนานกัน และให้กระดูกต้นขาหลังทำมุมกับพื้นโต๊ะ 60 องศา พร้อมกับดันขาเพื่อกดข้อสะโพกขณะถ่ายภาพรังสี ส่วนท่าที่ 3 เป็นท่ากด 90 องศา จัดให้สุนัขนอนหงาย กระดูกต้นขาหลังตั้งฉากกับพื้นโต๊ะและขาหลังท่อนล่าง ขนานกับพื้นดันเข่าสองข้างชิดกันพร้อมกับดันกดข้อสะโพกขณะถ่ายภาพรังสี วิเคราะห์ Subluxation Index(SI) และ Dorsolateral Subluxation Score (DLS Score) พบว่าค่า SI จากภาพรังสีท่ามาตรฐาน ท่ากด 60 องศา และท่ากด 90 องศา มีค่าเฉลี่ย .152 .196 และ .231 ในสุนัขที่มีข้อสะโพกปกติ และ .339 .393 และ .413 ในสุนัขที่มีข้อสะโพกเจริญผิดปกติ ตามลำดับ โดย SI จากท่ากด 60 องศา และท่ากด 90 องศา มากกว่าท่ามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.05) ในสุนัขทั้งสองกลุ่ม ส่วนค่า DLS Score จากท่ามาตรฐาน ท่ากด 60 องศา และท่ากด 90 องศา มีค่าเฉลี่ย 65.14% 64.33% และ 60.94% ในสุนัขที่มีข้อสะโพกปกติ และ 55.42% 53.61% และ 47.58% ในสุนัขที่มีข้อสะโพกเจริญผิดปกติ ตามลำดับ โดย DLS Score จากท่ากด 90 องศา น้อยกว่าท่ามาตรฐาน และท่ากด 60 องศา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ในสุนัขทั้งสองกลุ่ม SI และ DLS Score มีสหสัมพันธ์ในระดับปานกลางในการจัดท่าถ่ายภาพรังสีทั้ง 3 ท่า