Abstract:
สังคมสูงวัยของไทยเริ่มประสบปัญหาการขาดสมดุลเชิงโครงสร้างประชากรโดยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่จำนวนวัยแรงงานกลับลดลงสะท้อนภาระพึ่งพิงทางสังคมสูงขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้น การหาแนวทางเพิ่มหรือคงรักษาศักยภาพของผู้สูงอายุให้ได้อำนวยประโยชน์มากและยาวนานที่สุดจึงเป็นหนทางหนึ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับสังคมส่วนรวม ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถเข้าใจถึงสภาพที่กำหนดพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุไทย (ซึ่งถูกยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นการใช้ศักยภาพในการสร้างประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้สูงอายุเองและต่อสังคมส่วนรวมด้วย) จากแนวคิดสมมติฐานการคล้อยตามสภาพแวดล้อม (The Environmental Docility Hypothesis) ทางนิเวศวิทยาการสูงอายุเชื่อว่า ความสามารถทางกายกับสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมซึ่งส่งผลถึงจิตใจของผู้สูงอายุด้วย การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางกาย สภาพแวดล้อม การมีส่วนร่วมทางสังคม และสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุไทย และเพื่อศึกษาอิทธิพลของความสามารถทางกายและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุที่ต่างและร่วมกันส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางสังคมและสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อศึกษาอิทธิพลของความสามารถทางกายและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุที่ส่งผลผ่านการมีส่วนร่วมทางสังคมไปสู่สุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ โดยอาศัยข้อมูลจากโครงการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปีพ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งประชากรเป้าหมายคือผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้วิจัยได้ทำการถ่วงน้ำหนักด้วยโครงสร้างประชากรของประเทศ โดยตัวอย่างทั้งหมดหลังถ่วงน้ำหนักมีจำนวน 13,331 รายซึ่งเลือกเฉพาะผู้ตอบแบบสำรวจด้วยตนเอง จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์ทางสถิติความถดถอยเชิงซ้อน และการทดสอบความเป็นตัวแปรแทรกกลาง ผลการศึกษาพบว่า ความสามารถทางกาย และสภาพแวดล้อมทางสังคม (จากครอบครัว และจากรัฐ/ชุมชน/สังคม) ต่างมีอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อการมีส่วนร่วมทางสังคมและสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ รวมทั้งต่างมีอิทธิพลทางอ้อมทางบวกผ่านการมีส่วนร่วมทางสังคมไปสู่สุขภาพจิตที่ดีด้วย แต่สำหรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพภายในบ้านซึ่งมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกับความสามารถทางกายส่งผลให้มีผลทางลบต่อการมีส่วนร่วมทางสังคม แต่มีอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อสุขภาพจิตที่ดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ส่วนปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางกายกับสภาพแวดล้อมทางสังคมจากรัฐ/ชุมชน/สังคมมีอิทธิพลทางบวกต่อการมีส่วนร่วมทางสังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางกายกับสภาพแวดล้อมทางสังคมจากครอบครัวมีอิทธิพลทางบวกต่อสุขภาพจิตที่ดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 สรุปได้ว่า การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความสามารถทางกายที่มากและลดลงได้ช้าที่สุด และการสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางสังคม (จากครอบครัว และจากรัฐ/ชุมชน/สังคม) ของผู้สูงอายุให้ได้มากจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถรักษาทั้งการมีส่วนร่วมทางสังคมและสุขภาพจิตที่ดีไว้ได้มากและต่อเนื่องนานที่สุด รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมจากครอบครัวยังสามารถช่วยชะลอระดับสุขภาพจิตที่ดีที่จะลดลงจากผลของความสามารถทางกายที่ต้องลดลงตามอายุไว้ได้ด้วย และสภาพแวดล้อมทางสังคมจากรัฐ/ชุมชน/สังคมยังสามารถช่วยชะลอระดับการมีส่วนร่วมทางสังคมที่จะลดลงจากผลของความสามารถทางกายที่ต้องลดลงตามอายุไว้ได้ด้วย ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ทั้งให้ภาครัฐหรือผู้เกี่ยวข้องด้านการบริหารนโยบายสาธารณะมีแนวทางสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุเพื่อสามารถนำศักยภาพของผู้สูงอายุไทยมาเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของประเทศได้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย