Abstract:
การทำความเข้าใจถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยภายใต้แนวคิดการทูตเชิงรุกของรัฐบาลในช่วง พ.ศ. 2544-2548 จำเป็นที่จะต้องศึกษาบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น คือ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรงในการนำนโยบายไปปฏิบัติ การศึกษาครั้งนี้ได้นำแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ การศึกษานโยบายสาธารณะ และแนวคิดด้านจิตวิทยามาปรับใช้ในการศึกษาบทบาทของรัฐมนตรีผู้นี้ ผลการศึกษาพบว่า ดร. สุรเกียรติ์ มีบทบาทใน 3 มิติสำคัญคือ 1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ผ่านการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ 2) การดำเนินการทูตเชิงรุกด้วยการสร้างวาระและกรอบความร่วมมือใหม่ๆ ที่วางสถานะให้ประเทศไทยมีบทบาทนำ และ 3) การปรับกลไกของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในส่วนของการปรับวิสัยทัศน์ จุดยืนเชิงนโยบาย และกระบวนการทำงาน ให้มีบทบาทและการทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล การศึกษายังพบอีกด้วยว่าปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ ดร. สุรเกียรติ์ สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การต่างประเทศเชิงรุกได้นั้น เป็นผลจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ฝ่ายการเมืองมีบทบาทนำในกระบวนการกำหนดนโยบาย การได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญก็คือคุณลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ภูมิหลัง ความตื่นตัวและประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ รูปแบบและวิธีการทำงาน รวมถึงโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมต่อการทำงานด้านการต่างประเทศ