Abstract:
ศึกษาเปรียบเทียบถึงมาตรฐานการบัญชีไทยกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ และเปรียบเทียบถึงมาตรฐานการบัญชีไทย ก่อนและหลังมีการเปลี่ยนแนวปฏิบัติทางการบัญชีในปี พ.ศ.2542 ในประเด็นเกี่ยวกับแม่บทการบัญชี สินค้าคงเหลือ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ การด้อยค่าของสินทรัพย์ การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและงบการเงินรวม การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทร่วม และการเสนอข้อมูลทางการเงินจำแนกตามส่วนงาน วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ศึกษาถึงผลกระทบต่อการลงทุนจากการนำมาตรฐานการบัญชีมาใช้ โดยศึกษาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉพาะหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิธีการศึกษาใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากโปรแกรม spss สถิติที่ใช้ทดสอบ ได้แก่ การทดสอบแบบจับคู่ และการทดสอบผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ย 2 ประชากร โดยใช้ t-Test การทดสอบทั้งหมดกำหนดระดับนัยสำคัญไว้ที่ 0.05 ผลการวิจัยแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกเป็นการศึกษาอัตราการตอบสนองการซื้อขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540 2541 นั้นน้อยกว่าปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2543-2544 สำหรับในส่วนที่สองศึกษาหาค่าเฉลี่ยของระดับความพึงพอใจ ที่มีต่อมาตรฐานการบัญชีไทย พบว่ามาตรฐานการบัญชีเรื่องการบัญชี สำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและงบการเงินรวม การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทร่วม และการเสนอข้อมูลทางการเงินจำแนกตามส่วนงาน ที่ใช้ในปัจจุบันได้รับความพึงพอใจมากกว่ามาตรฐานการบัญชีฉบับเดิม ในขณะที่มาตรฐานการบัญชีเรื่องที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ที่ใช้ในปัจจุบันได้รับความพึงพอใจน้อยกว่ามาตรฐานการบัญชีฉบับเดิม นอกจากนี้ ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานการบัญชีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์พอใช้