Abstract:
โรฮิงญาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับภาพตัวแทนของชาวโรฮิงญาในสื่อออนไลน์ 3 กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาลไทย กลุ่มสิทธิมนุษยชน และหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2558 โดยใช้กรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ของแฟร์คลัฟ (Fairclough, 1995) ผลการวิเคราะห์ตัวบทพบว่า สื่อออนไลน์มิได้ทำหน้าที่เผยแพร่เหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังถ่ายโอนชุดความคิดเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาไปยังคนในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กล่าวคือ วาทกรรมของรัฐบาลเน้นนำเสนอภาพตัวแทนด้านลบของโรฮิงญา เช่น โรฮิงญาเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โรฮิงญาเป็นปัญหาและภาระ ขณะที่วาทกรรมของกลุ่มสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นชาวมุสลิม เน้นการนำเสนอว่าโรฮิงญาน่าสงสาร โรฮิงญาเป็นเพื่อนมนุษย์ และโรฮิงญาเป็นมุสลิม ส่วนวาทกรรมหนังสือพิมพ์ออนไลน์นำเสนอไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลไทย และเน้นว่าโรฮิงญาเป็นภัยอันตราย ทั้งนี้แม้ภาพโรฮิงญาจะถูกนำเสนอในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่น่าสงสาร หากแต่ภาพตัวแทนที่เด่นชัดและถูกผลิตซ้ำมากที่สุด คือ ภาพของโรฮิงญาในฐานะ "ผู้ทำผิดกฎหมายและเป็นปัญหาของสังคมไทย" ภาพตัวแทนเหล่านี้สื่อผ่านกลวิธีทางภาษา 6 กลวิธี ได้แก่ การเลือกใช้คำอ้างถึง การใช้ชนิดของกระบวนการ การใช้อุปลักษณ์ การใช้สำนวน การให้รายละเอียด และการใช้สหบท ด้านการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่า สื่อหนังสือพิมพ์และสื่อของรัฐบาลไทยแพร่กระจายไปในวงกว้างกว่าสื่อของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้ภาพตัวแทนในเชิงลบจึงเป็นภาพที่ถูกผลิตซ้ำมากกว่าด้านที่น่าสงสาร นอกจากนี้ระบบการทำงานของสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟซบุ๊ก อาจมีบทบาทสำคัญในการเน้นย้ำมุมมองเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา ด้านการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมพบว่า ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย สถานการณ์ความขัดแย้งในพม่า การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลไทย แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสากล แนวคิดของศาสนาอิสลามและพุทธศาสนา รวมถึงแนวคิดพวกเขาพวกเรา มีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบท กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่าภาพตัวแทนของชาวโรฮิงญาที่ปรากฏในแต่ละตัวบทไม่ใช่ภาพที่เป็นกลาง แต่ผู้ผลิตตัวบทได้เลือกเฟ้นภาพตัวแทนบางภาพมานำเสนอให้โดดเด่น สอดคล้องกับจุดยืนที่แต่ละกลุ่มมี ดังนั้นผู้บริโภคข่าวสารจึงควรตระหนักรู้ว่าอาจจะมีเจตนาแฝงบางประการอยู่เบื้องหลังตัวบทเหล่านั้น ทั้งนี้มิใช่เพียงแค่ในกรณีการรายงานข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญาเท่านั้น แต่รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ในสังคมด้วย