Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปฏิสัมพันธ์ของชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยและชาวไทยในปริบทธุรกิจโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน การศึกษาส่วนที่ 1 คือ การเปรียบเทียบวัจนกรรมที่มีแนวโน้มเป็นปัญหาในสถานที่ทำงาน ได้แก่ การตำหนิ การตอบคำแก้ตัว และการทวงถามของชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยและชาวไทยตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์อันตรภาษาโดยเก็บข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามแบบเติมเต็มของชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองจำนวน 63 คนและผู้พูดภาษาไทยจำนวน 66 คน ทั้งสองกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานในองค์ธุรกิจอย่างน้อย 1 ปี ผลการวิจัยส่วนแรกพบว่า กลวิธีทางภาษาที่ใช้ในการแสดงวัจนกรรมการตำหนิ การตอบคำแก้ตัว และการทวงถามของชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองและชาวไทยมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน ความแตกต่างนั้นอาจเกิดจากการถ่ายโอนทางวัจนปฏิบัติศาสตร์จากภาษาแม่มาสู่การใช้ภาษาในปริบทภาษาไทย การตำหนิเป็นวัจนกรรมที่อาจเป็นปัญหาการสื่อสารระหว่างชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยกับชาวไทยมากที่สุดเนื่องจากความถี่ในการปรากฏการกล่าวตำหนิระหว่างสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติ การศึกษาส่วนที่ 2 คือ การวิเคราะห์ปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ของชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองและชาวไทยในองค์กรธุรกิจเกาหลีที่อยู่ในประเทศไทยตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์ระหว่างวัฒนธรรมโดยเก็บข้อมูลจากวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกพนักงานชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยและชาวไทยกลุ่มละจำนวน 10 คนและวิธีการสังเกตการณ์เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการวิจัยส่วนที่ 2 พบว่า ปัญหาในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยกับชาวไทยเกิดจากบรรทัดฐานในการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างกัน การที่ชาวเกาหลีเข้าใจความหมายของถ้อยคำผิด และการตีความจุดมุ่งหมายวัจนกรรมผิดระหว่างกัน รวมถึงข้อคำนึงที่เป็นเหตุจูงใจที่แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญแตกต่างกัน ในขณะที่ชาวเกาหลีที่ใช้ภาษาไทยมักคำนึงถึงสิทธิเชิงความสัมพันธ์หรือการปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร ชาวไทยมักคำนึงถึงหน้าด้านคุณภาพหรือการรักษาอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกเพื่อดำเนินการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กรให้ราบรื่น ปัญหาในการปฏิสัมพันธ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเกาหลี ได้แก่ วัฒนธรรมธุรกิจ วัฒนธรรมแบบอิงกลุ่มเสมือนกองทัพ และการเน้นบทบาทและหน้าที่ในสังคมตามหลักคำสอนแนวคิดขงจื๊อ และเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมไทย ได้แก่ แนวคิดเรื่องมุมมองตัวตนแบบพึ่งพา แนวคิดเรื่อง ‘หน้า’ และ ‘เกรงใจ’