Abstract:
เสื้อผ้าเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมักคุ้นเคยกับการได้เห็นสินค้าจริงก่อนการซื้อมาแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อความนิยมในการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เน้นความสะดวก ทำให้ผู้บริโภครุ่นใหม่มีแนวโน้มหันมาซื้อเสื้อผ้าผ่านระบบออนไลน์ อย่างไรก็ดีการเลือกซื้อเสื้อผ้าให้ถูกใจ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเมื่อการซื้อเสื้อผ้านั้น ผู้ซื้อไม่สามารถลองใส่ จึงมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความไม่พึงพอใจ หากผู้ซื้อได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่คิดไว้ เนคเทคได้เคยทำการสำรวจพบว่า การที่ผู้บริโภคไม่ได้เห็นสินค้าจริงก่อนการซื้อ จึงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่นิยมซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับธุรกิจแฟชั่นออนไลน์ ความผิดพลาดของตัวสินค้ามาจากความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ (Product Risks) ความเสี่ยงนี้มีต้นตอมาจากปัจจัยเสี่ยงด้านประโยชน์ใช้สอย (Functional Risks) และปัจจัยเสี่ยงด้านจิตวิทยา (Psychological Risks) ความเสี่ยงด้านประโยชน์ใช้สอย เกี่ยวข้องกับการที่ขนาดของเสื้อผ้าไม่พอดีกับรูปร่างของผู้ซื้อ ทำให้เกิดปัญหาในการสวมใส่ (Sizing & Fitting Problem) ส่วนความเสี่ยงด้านจิตวิทยา เกี่ยวข้องกับความไม่พึงพอใจที่ผู้ซื้อมีต่อเสื้อผ้าออนไลน์ (ที่ผู้ซื้อตัดสินใจจากภาพที่เห็นในเวบไซต์เท่านั้น แต่เมื่อนำมาลองสวมใส่จริงกลับไม่ถูกใจ) ความรู้สึกในเชิงลบจะเกิดขึ้น เมื่อความรู้สึกที่ได้รับจากการสวมใส่นั้นไม่ตรงกับภาพลักษณ์ของตนเอง (Self-Image) อย่างที่จินตนาการไว้ ดังนั้นงานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อค้นหา 1) รูปแบบการแต่งกาย (Fashion Style) ที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของกลุ่มผู้บริโภคหญิงไทยเจนเนอร์เรชั่นวายที่สนใจเรื่องแฟชั่นและภาพลักษณ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ที่สำคัญ 2) องค์ประกอบการออกแบบแฟชั่น (Fashion Elements) ที่ช่วยลดความเสี่ยงผลิตภัณฑ์จากปัจจัยเสี่ยงด้านประโยชน์ใช้สอยและด้านจิตวิทยา 3) เพื่อทดลองสร้างอัตลักษณ์การออกแบบแฟชั่น (Fashion brand Identity) ที่สอดคล้องกับความชอบ (Product Preference) และการตัดสินใจซื้อ (Purchase Intention) ผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องลอง การวิจัยนำเอากระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณมาใช้ร่วมกัน ทั้งการสอบถามผู้เชี่ยวชาญสาขาแฟชั่นด้วยเทคนิคเดลฟาย แบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างและแบบสอบถามผู้บริโภค พร้อมทั้งมีการตรวจสอบเครื่องมือวิจัย ด้วยการหาคะแนนความสอดคล้องของแบบสอบถามแต่ละชุด มีค่า IOC ที่ 0.925, 0.897, 0.873 และ 0.872 ความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของ Cronbach เท่ากับ 0.823 และ 0.831 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าสไตล์แฟชั่นสองอันดับแรกที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของผู้บริโภคหญิงไทยเจนเนอร์เรชั่นวาย ได้แก่ สไตล์โรแมนติกและสไตล์มินิมอล ส่วนองค์ประกอบการออกแบบแฟชั่นที่ช่วยลดความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) องค์ประกอบฯที่ลดความเสี่ยงเรื่องขนาดและความพอดี 2) องค์ประกอบฯที่ลดความเสี่ยงเชิงจิตวิทยา 3) องค์ประกอบฯที่ลดความเสี่ยงได้พร้อมกันทั้งสองด้านซึ่งนำไปสู่การลดความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ในที่สุด เนื่องจากธุรกิจแฟชั่นเป็นธุรกิจที่เน้นภาพลักษณ์และความงาม ผลการศึกษาดังกล่าวจะถูกนำมาใช้สร้างอัตลักษณ์การออกแบบเครื่องแต่งกาย ช่วยลดความเสี่ยงให้การซื้อเสื้อผ้าผ่านระบบออนไลน์รวมถึงมีความสอดคล้องกับภาพลักษณ์และความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น